ธุรกิจบริการขนส่งพัสดุ นับเป็นโลจิสติกส์กลุ่มหนึ่งที่เปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ ทั้งนี้ประมาณมูลค่าการตลาดเฉพาะกลุ่มนี้ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 32,000 ล้านบาทต่อปี แถมมีค่าเฉลี่ยการเติบโตที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อไป และที่สำคัญ ‘ผู้เล่น’ ในธุรกิจกลุ่มนี้มีใหม่มาเรื่อยๆ ทั้งน่าจับตาด้วยเช่นกันว่าจะสามารถ ‘โค่น’ เจ้าถิ่นอย่างไปรษณีย์ไทย รัฐวิสาหกิจของไทยที่ครองตลาดนี้มากว่า 100 ปี
จุดเปลี่ยนที่สามารถ Disruption ธุรกิจบริการขนส่งพัสดุในปัจจุบันคือกระแสการช้อปปิ้งออนไลน์และเครื่องมือดิจิทัลที่เข้ามาบีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ ‘เจ้าตลาด’ ก็ร้อนๆ หนาวๆ เพราะยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4IR จะทำให้การแข่งขัน วัดกันที่ความเร็ว !
วันนี้ ไปรษณีย์ไทยเบอร์หนึ่งด้านการขนส่งพัสดุของไทยจึงไม่ได้แข่งขันเฉพาะกับ เคอร์รี่ เอ็กซ์เพลส เพียงรายเดียว แต่ยังมีธุรกิจรายเดิมและธุรกิจขนส่ง-โลจิสติกรายใหม่เกิดขึ้นมากมายทั้งพรั่งพร้อมด้วยเงินลงทุน เทคโลโลยี บุคลากร เรียกว่าตลาดนี้ เป็น Red Sea ไม่มีที่ว่างสำหรับผู้แพ้และผู้ไม่พัฒนาก็ว่าได้
ก่อนอื่น ทำความเข้าใจกันก่อน กลุ่ม Express นี้เราหมายถึงบริการส่ง ‘แบบซอง’ และ ‘แบบกล่อง’ ดังนั้นจึงคนละกลุ่มกับที่เรียกว่า Delivery Service ซึ่งเป็นบริการขนส่งออนดีมานด์ อาทิ อาหาร คน สิ่งของที่ต้องการแบบรวดเร็วเป็นพิเศษ อื่นๆ แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริการขนส่งพัสดุ อาจจะต้องผันตัวเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุด่วนไปด้วยในตัว นี่คือธุรกิจในรูปแบบปัจจุบัน คืออยู่กับที่ไม่ได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ผ่านๆ มาเราเชื่อว่าท่านผู้คงท่านดีอยู่แล้วถึงกระแสการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ ทั้งไปรษณีย์ไทย เคอร์รี่ เอสซีจี เอ็กซ์เพลส และอีกหลายๆ รายทั้งไทยและต่างชาติที่ทำธุรกิจอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เกิดภาพการแข่งขันที่รุนแรงตามการเติบโตของธุรกิจขนส่งเฉลี่ยที่ร้อยละ 15 ต่อปี
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ได้ประเมินมูลค่าการซื้อขายผ่านออนไลน์ในปีที่ผ่านมาว่ามีมูลค่าทะลุเกิน 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2.4 ล้านล้านบาท และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยคาดการณ์ ตลาดอีคอมเมิร์ซ ในปีนี้เติบโต 12% มูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท เป็นตลาดที่มีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี จากคนไทยที่มีความรู้ความเข้าใจในการสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดกระแสการลงทุนในกลุ่มนี้มากมายทั้งเอกชนไทยและต่างชาติ เพื่อหวังสิ่งเดียวกัน คือ ‘มาร์เก็ตแชร์’ ในตลาดประเทศไทย ดังนั้นกลยุทธ์ที่ร้อนแรงชนิดสู้ยิบตาจึงกลายเป็น ‘ท่าไม้ตาย’ ที่ผู้เล่นหน้าใหม่ใช้เพื่อเรียกกระแสและสร้างการรับรู้ในแบรนด์อย่างรวดเร็ว หนึ่งในนั้นคือ กลยุทธ์ด้านราคา
กรณีน่าศึกษา Flash Express น้องใหม่ไฟแรงธุรกิจขนส่ง
Flash Express ธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในนามนิติบุคคลสัญชาติไทยร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 โดยทุนประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท (ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนที่ 180,ล้านบาท) มีรายชื่อคณะกรรมการเพียงคนเดียวคือ “นายคมสันต์ แซ่ลี” เป็นผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียว และต่อมาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุน ทั้งไทยและต่างชาติ กลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่เรียกเสียงฮือฮาในวงการได้ไม่น้อย
รูปแบบธุรกิจของ Flash Express ลงทุนสาขาเองทั้งหมด เป็นวิธีคิดที่ต้องแบกรับต้นทุนเองไว้ทั้งหมดแต่ก็แลกมาซึ่งการบริหารที่คล่องตัวและควบคุมมาตรฐานได้ด้วยมือตัวเอง ผิดกับรูปแบบแฟรนไชส์ที่ควบคุมได้ยากลำบากกว่าเพราะนักลงทุนแฟรนไชส์แต่ละคนก็มีความคิดที่ต่างกัน วิธีที่จะดึงคนให้รู้จักแล้วลองหันมาใช้บริการ Flash Express ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง “เกมราคา” อย่างที่ทราบ สมรภูมินี้ “ใครเงินหมดก่อนแพ้” โดยที่ผ่านมาได้ Flash Express ประกาศแคมเปญค่าบริการเริ่มต้นที่ 19 บาทซึ่งเรียกได้ว่าเปิดเกมแข่งขันด้านราคาที่ทำเอารายอื่นหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะจากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ของ คมสัน บอกกับสื่อในช่วงเริ่มต้นแคมเปญนี้ว่า
“การจัดทำแคมเปญค่าบริการ 19 บาทนั้น บริษัทได้นำงบการตลาดเข้ามาอุดหนุนประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อให้ได้ค่าบริการดังกล่าว ซึ่งต้นทุนที่แท้จริงอยู่ราวๆ 45 บาท”
การเฉือนเนื้อตัวเองด้วยการทำธุรกิจที่ขาดทุนในช่วงเริ่มต้นนั้น ก็ยังไม่มีการประเมินตัวเลขได้ชัดเจนว่าเกมราคาครั้งนี้จะทำให้ Flash Express มียอดส่งพัสดุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อวันเป็นจำนวนเท่าไร
นั่นแหละ คำถามคือต้องเท่าไหร?
เปรียบเทียบง่ายๆ ปี 2560 มีพัสดุที่ต้องส่ง 482.3 ล้านชิ้น เทียบอัตรการเติบโตร้อยละ 10 ต่อปี ก็จะได้ตัวเลขคร่าวๆ ของปริมาณพัสดุที่ต้องส่งต่อปี ของไปรษณีไทยในปี 2561 เฉลี่ยวันละ 1.3 ล้านชิ้น เคอร์รี่ 8 แสนชิ้น เฉพาะ 2 รายนี้ก็คือสัดส่วนกว่า 80% ของพัสดุต่อวันที่ประมาณการว่าเฉลี่ย 1.45 ล้านชิ้น
ทั้งนี้ Flash Express วางเป้าหมายการลงทุนขนส่งและโลจิสติกส์ครบวงจร โดยเริ่มจากการจัดส่งพัสดุด่วน ปัจจุบันผู้นำในตลาดนี้ อันดับ 1. ไปรษณีย์ไทย 2. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส 3. SCG Express 4. ดีเอชแอล หากปีนี้บริษัททำได้ตามเป้าหมายส่งสินค้า 40 ล้านชิ้น คาดว่าปี 2563 อันดับจะขึ้นมาใกล้เคียงกับเบอร์ 2 คือ เคอร์รี่
อย่างไรก็ตาม ในตลาดจัดส่งพัสดุด่วนยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ตามการขยายตัวของ อี-คอมเมิร์ซ ปีที่ผ่านมาตลาดโซเซียลคอมเมิร์ซ เติบโต 80% ส่วนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่างลาซาด้าเติบโต 100% ด้วยแนวโน้มการขยายตัวดังกล่าว พบว่าปี 2563 จะมีผู้เล่นรายใหม่ ในตลาดส่งพัสดุด่วนจากต่างประเทศ เข้ามาเปิดตัวธุรกิจในไทยอีกหลายรายดาหน้าเข้ามา ที่สำคัญ ประเด็นที่คนไทยกำลังจับตา คือ ธุรกิจขนส่งของไทยอย่างไปรษณีย์ไทยกำลังถูกไล่หลังติดๆ ชนิดหายใจรดต้นคออยู่หรือไม่
อย่างที่กล่าวในข้างต้น …ถ้าหยุดนิ่งก็แพ้ นี่คือกฏที่ใครก็ทราบดี ประเด็นคือ จะแข่งขันให้ชนะได้อย่างไร ? แน่นอนว่าอาจไม่มีผู้แพ้ตลอดไปและอาจไม่มีผู้ชนะที่ถาวร
ขมวดปมธุรกิจขนส่งด้วย ‘แฟลช โลจิสติกส์’
ทั้งนี้ภายใต้การร่วมทุนโดยกลุ่มแฟลช คือ บริษัท แฟลช โลจิสติกส์ จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้งบลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ได้ร่วมทุนกับ บริษัท นิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์ จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ให้บริการมายาวนานกว่า 48 ปี จากจุดเริ่มต้นธุรกิจในเชียงใหม่ บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัดภายหนังมีการร่วมทุนได้มีการปรับเปลี่ยนชือบริษัทใหม่ว่า ‘แฟลช โลจิสติกส์’ ปัจจุบันให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าและบริการโลจิสติกส์ครบวงจรทั่วประเทศลักษณะแบบ B2B มีเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ 30 จุด รถบรรทุกมากกว่า 1,000 คัน และมีพันธมิตรในเครือข่ายมีรถบริการกว่า 5,000 คัน
ความหมายตรงตัว แบบไม่ต้องเดาทาง
ก่อนจะจบเรื่องนี้เหลือบไปเห็นข่าว ที่ดูเหมือนจะเป็น ดราม่า ปัญหาธุรกิจครอบครัว คือกรณีที่บริษัท นิ่มเอ็กซ์เพรส จำกัด ที่มี ‘ชาติชาย สุวิทย์ศักดานนท์’ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่บอกข่าวว่าเป็นธุรกิจคนไทย 100% ขณะที่บริษัทแม่ คือ บริษัท นิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์ จำกัด ที่มี ‘ปิยะนุช สัมฤทธิ์’ เป็นหัวเรือใหญ่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งซีอีโอแฟลช โลจิสติกส์
คงไม่ต้องเดา Family Business ก็แบบนี้แหละ ย่อมต้องมีเกาเหลาและแยกทางกันบ้าง สุดท้ายต่างคนต่างความคิด ต่างธุรกิจ และไม่ว่าอย่างไร การแข่งขันในธุรกิจนี้อาจแค่เริ่มต้น หากวัดจากปริมาณค้าปลีกไทยมูลค่าปีละ 2 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนการใช้บริการซื้ออนไลน์แค่ร้อยละ 2
เรียกว่าอีคอมเมิร์ซบ้านเรายังอยู่ในช่วงเยาว์วัย ยังโตได้อีกมาก และก็ทราบกันดีว่าอีคอมเมิร์ซโต ขนส่ง โลจิสติกส์ก็โตตามเรียกว่าการแข่งขันเพิ่มเริ่มต้น คงไม่จำเป็นต้องนับศพในขณะนี้