ภาคการผลิต ถือเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งเกี่ยวถึงการจ้างงาน ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายๆอุตสาหกรรมดัชนีการผลิตลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ และชิ้นส่วน โดยล่าสุดจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ที่เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.19 โดยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่หลายประเทศได้ใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักลง รวมทั้งกิจกรรมด้านการขนส่ง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้ลดวันทำงานลง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ในเดือนพฤษภาคมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ร้อยละ 26.86 ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 52.84 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นหลังดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ที่ร้อยละ 2.86 จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) อาทิ ผลิตภัณฑ์ปลาแช่แข็ง สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง การแปรรูปผักผลไม้ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนพฤษภาคม ได้แก่ ปุ๋ยเคมี อาหารทะเลกระป๋อง เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค นม และอาหารทะเลแช่แข็ง
ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนพฤษภาคม 2563 ได้แก่ การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียมและเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง โรงงานยังคงหยุดสายการผลิต ประชาชนเริ่มทำงานที่บ้านจึงลดการเดินทางลง การหยุดกิจกรรมขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากต่างประเทศและถูกปิดช่องทางการขายทั้งในและต่างประเทศ