เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยว่า กทท. ได้บูรณาการแผนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ในภาพรวม (Master Plan) ทั้งภายในและนอกเขตรั้วศุลกากร โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 โซน ได้แก่ พื้นที่พัฒนาด้านการค้า พื้นที่พัฒนาธุรกิจหลักและพื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อกำหนดแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ (Land Use) ให้มีความเหมาะสมกับศักยภาพ และสอดคล้องกับสภาพความต้องการของตลาดปัจจุบัน ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
สำหรับกรอบแนวความคิดแผนพัฒนาผังแม่บท ทกท. เบื้องต้น ซึ่งแผนการพัฒนาพื้นที่ด้านการค้า (Commercial Zone) เนื้อที่ 17 ไร่ พัฒนาเป็นอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี (Maritime Business Center) มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและเอื้อประโยชน์กับกิจการท่าเรือ อาทิ สำนักงานของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการท่าเรือ ศูนย์ฝึกอบรม เนื้อที่ 54 ไร่ พัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าแนวสูงและแนวราบ และสถานีพักรถบรรทุก เนื้อที่ 15 ไร่ พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน (Office Building) เนื้อที่ 127 ไร่ (ไม่รวมตลาดคลองเตย) พัฒนาเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมนานาชาติเพื่อพาณิชยนาวี (International Maritime Business and Trade Center) และบริเวณโรงฟอกหนัง เนื้อที่ 58 ไร่ พัฒนาเป็น Smart Community ซึ่งเป็นการใช้แนวความคิดทางด้านการประสานประโยชน์การใช้ที่ดิน/การแบ่งปันที่ดิน (Land Sharing) ระหว่างชุมชนและเจ้าของที่ดิน โดยเจ้าของที่ดินให้เช่าหรือขายที่บางส่วนให้ชุมชนในราคาถูก เพื่อแลกกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินส่วนที่เหลือ
แผนการพัฒนาธุรกิจหลัก (Core Business Zone) การพัฒนาจะประกอบด้วย สถานีบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก (CFS Export) ซึ่งมีแนวคิด Cross Docking Operations และ Bangkok Port Distripark เป็นการ บูรณาการพื้นที่หลังท่า เพื่อรองรับการปฏิบัติการของ ทกท. อาทิ คลังสินค้าขาเข้า เขตปลอดภาษี (Free Zone) ลานบริหารจัดการรถบรรทุก (Truck Management Area) และจุดบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (Bangkok Port One Stop Service Center) ท่าเทียบเรือตู้สินค้า (BKP West Container Terminal) ในลักษณะท่าเรืออัตโนมัติ Incident Command Center ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องมือทุ่นแรง ทกท. (Maintenance Service Center) กองบริการท่า (Harbor Service) สถานีขนส่งทางเรือลำเลียง (Barge Transfer) ท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก (BKP East Container Terminal) โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อ ทกท. และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับการขึ้น-ลงทางพิเศษบูรพาวิถี
ส่วนแผนสุดท้าย พื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Modern City) มีรูปแบบการพัฒนาเป็น Modern Port City โดยเน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแลนมาร์คของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ และ Passenger Terminal โดยมีแนวคิดออกแบบเป็นอาคารแบบ Mixed Use ที่มี Shopping Mall พื้นที่จอดรถและโรงแรม