สถานการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ในประเทศไทยคือ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนรุกคืบอย่างหนัก ทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง ลาซาด้า ภายใต้ปีกธุรกิจอีคอมเมิร์ซระดับโลกอย่างอาลีบาบา รวมทั้ง ช้อปปี้ ที่มีเจ้าของคือ Sea Group แถมมีบริษัทผลิตเกมยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่ม Tencent หนุนหลัง และ JD CENTRAL โดยการร่วมมือระหว่าง JD.com ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ของจีน และ เซ็นทรัลกรุ๊ป เจ้าพ่อค้าปลีกของไทย
รูปเกมคือ การแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ประเมินว่าในปี 2562 นี้ จะมีมูลค่าถึง 3.2 ล้านล้านบาท ยิ่งทำให้การแข่งขันให้ได้มาซึ่งผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวทวีความร้อนแรง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซต่างทุ่มเงินลงทุน จัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย แคมเปญโฆษณา และสงครามราคาค่าขนส่ง ประมาณว่าศึกนี้ใครเงินหมดก่อนแพ้ และผู้ชนะจะสามารถครอบครองตลาดนี้แต่เพียงผู้เดียว
คำถามคือ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงของธุรกิจต่างชาติ ผู้ประกอบการท้องถิ่นในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบและปรับตัวอย่างไร ?
ถอดบทเรียนค้าปลีกอเมริก
บริษัท Amazon ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเบอร์หนึ่งของโลก ที่เริ่มต้นจากร้านขายหนังสือในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1995 สู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ขายทุกอย่างในปัจจุบัน Amazon ตีโจทย์การค้าออนไลน์ในปัจจุบันว่ามีจุดอ่อนที่ค่าขนส่ง ผู้ซื้อไม่อยากจ่ายค่าขนส่งที่บวกเพิ่มขึ้นจากค่าสินค้า Amazon เลยเปิดบริการ Amazon Prime คือให้ลูกค้าเหมาจ่ายค่าขนส่งแบบรายปีในราคา 99 เหรียญสหรัฐ บริการส่งฟรีตลอดปีไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทั้งขยายคลังสินค้าขนาดใหญ่กระจายตามรัฐต่างๆ เพื่อความสะดวกในบริการจัดส่งที่รวดเร็ว
บริการ Amazon Prime ตอบโจทย์คนอเมริกันได้ตรงจุดพอดิบพอดี ! การซื้อสินค้าออนไลน์ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาที่ยังขายแบบออฟไลน์ โดยในปี 2016 ปีเดียว Walmart ธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ประกาศปิดสาขาให้บริการถึง 269 สาขา รวมทั้งค้าปลีกท้องถิ่นอีกหลายรายที่ปรับตัวไม่ทันต่างทยอยปิดกิจการ แม้แต่ร้านของเล่นเก่าแก่อย่าง Toys R us ร้านที่อยู่คู่กับเด็กอเมริกันมายาวนานถึงขั้นต้องปิดกิจการลงเช่นกัน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แทนรูปแบบเดิมๆ
บทสรุปปัจจุบัน คือ Amazon แทบจะกินรวบค้าปลีกออนไลน์ในสหรัฐฯ ขยายไปในยุโรป และเจฟฟ์ เบซอส เจ้าของ Amazon กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก
ทุนอีคอมเมิร์ซจีน เปิดศึกชิงตลาดอาเซียน
ปี 2016 อาลีบาบาธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนเข้าซื้อธุรกิจลาซาด้า ซึ่งเดิมเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซสัญชาติเยอรมนี ที่ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม นี่คือก้าวสำคัญที่อาลีบาบารุกคืบธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มตัว ซึ่งสิ่งสำคัญที่อาลีบาบาได้จากลาซาด้าคือข้อมูลฐานลูกค้า จากแพลตฟอร์มลาซาด้า นั่นเท่ากับว่าอาลีบาบาทราบว่าพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ในอาเซียนเป็นอย่างไร
โดยแพลตฟอร์มลาซาด้า จะมีหมวดสินค้าที่เรียกว่า Section Global Collection ซึ่งเป็นหมวดสินค้าจากประเทศจีน จะเห็นว่าทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าจากจีนได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ราคาถูกกว่าสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทย แถมบางสินค้ายังจัดส่งฟรีจากต่างประเทศให้ด้วย นี่คือความน่ากลัวจากการรุกคืบของสินค้าจากประเทศจีนที่บุกตลาดไทยโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งตรงจากโรงงานประเทศจีนถึงมือผู้บริโภคประเทศไทยโดยตรงในรูปแบบการค้าออนไลน์ข้ามแดน (Cross Border e – Commerce)
อาลีบาบา ยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง AliExpress ที่รองรับได้นับร้อยภาษา รวมทั้งภาษาไทย ทำให้ผู้บริโภคคนไทยสามารถซื้อสินค้าออนไลน์จาก AliExpress ซึ่งทุกอย่างเป็นสินค้าจากประเทศจีนโดยตรง มีบริการจัดส่งฟรี ปลอดภาษีในกรณีที่สินค้าชิ้นนั้นมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ยิ่งทำให้การนำเข้าสินค้าทำได้ง่าย โดยปี 2018 สินค้าแพลตฟอร์มขายออนไลน์ที่จำหน่ายในประเทศไทย ปริมาณ 80% คือสินค้าจีน มีสินค้าไทยเพียง 20% จะเห็นว่าธุรกิจในยุคนี้คู่แข่งเปลี่ยนเป็นต่างประเทศ และเงินกำลังไหลออกจากประเทศในแบบที่ไม่มีใครสังเกต
ลาซาด้า VS ช้อปปี้ แข่งกันขาดทุน
ตามที่ระบุในข้างต้น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันแข่งขันกันที่ราคาและแคมเปญโฆษณา เพื่อกระตุ้นการซื้อออนไลน์ ในปี 2018 ลาซาด้าประเทศไทยมีผลประกอบการขาดทุนกว่า 2 พันล้านบาท ถามว่าขาดทุนแล้วทำธุรกิจทำไม คำตอบคือเป็นการแข่งขันสงครามราคา เพื่อการกินรวบมาร์เก็ตแชร์ ซึ่งกลุ่มอาลีบาบามีผลกำไร (ธุรกิจรวมทั้งหมด) ต่อปีนับแสนล้านบาท เพราะฉะนั้นการขาดทุน 2 พันล้านบาท แลกกับการได้มาซึ่งโอกาสกินรวบส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท อัตราการเติบโต 15 % ต่อปี อาจนับเป็นการขาดทุนที่คุ้มค่า
ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากจีนอีกราย คือ ช้อปปี้ ปีที่แล้วมีรายได้รวม 165 ล้านบาท ขาดทุนถึง 4,100 ล้านบาท เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้ร้านค้าขายฟรี แถมมีบริการจัดส่งฟรี เพื่อหวังดึงดูดร้านค้ามาเปิดร้านในช้อปปี้เพิ่มขึ้น ทั้งจากสงครามราคา และการอัดแคมเปญโฆษณาอย่างหนักในปีที่แล้ว เพื่อให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งในเกมการแข่งขันธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยให้ได้ ตัวเลข 4,100 ล้านบาท คือเงินเดิมพันที่จำเป็นต้องจ่าย
เพราะเมื่อไรก็ตาม ที่มีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว สามารถกินรวบมาร์เก็ตแชร์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้ กรณีของชัยชนะของ Amazon จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ถึงตอนนั้นคือการทวงคืนกำไร
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน คนรอซื้อออนไลน์มากกว่าร้านค้าปลีกในประเทศ นี่อันตรายมาก และเงินกำลังไหลออกนอกประเทศ ผลกระทบที่หลายคนยังมองไม่ออก แต่สำหรับธุรกิจในประเทศต้องมองให้ออกว่าเราจะแข่งขันได้อย่างไร ท่ามกลางสงครามราคาธุรกิจอีคอมเมิร์ซต่างชาติ