ทีม TRANS TIME ได้มีโอกาสพบปะกับ “คุณอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง” ที่ได้รับความไว้วางจากจากกลุ่มสิบล้อ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ดังนั้นจึงขอจับเข่าคุยทุกแผนงานจะอยากเร่งดำเนินการเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลในยุคที่ดำรงตำแหน่งประมุขสิบล้อไทย
คุมเข้มรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
คุณอภิชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่ทำผิดกฎหมาย ส่งผลให้ถนนชำรุดเสียหายจำนวนมาก ดังนั้น ทางสหพันธ์ฯ จึงยื่นเรื่องไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อให้แก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการดูแลน้ำหนักก่อนขึ้นทางด่วน เนื่องจากขณะนี้รถบรรทุกมีการแอบลักลอบขึ้นทางด่วนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากตำรวจยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทางสหพันธ์ฯ จะรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ทราบต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้มีการดำเนินการจับกุมรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินอย่างเข้มงวด ทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย
ร่วมแก้ปัญหาการติดตั้ง GPS
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการติดตั้งระบบจีพีเอสรถบรรทุกที่มีประมาณ 1 ล้านกว่าคัน แบ่งเป็นรถบรรทุกสาธารณะ 2 แสนกว่าคันที่ได้ติดตั้งจีพีเอสทั้งหมดแล้ว ขณะที่รถบรรทุกส่วนบุคคลอีก 8 แสนคันนั้น ซึ่งตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะบังคับให้ติดจีพีเอสในปี 2563 ที่ได้ติดตั้งจีพีเอสแล้วนั้น ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้ เช่น เมื่อรถบรรทุกเกิดอุบัติเหตุ หากผู้ประกอบการไม่ได้แจ้งเรื่องไปยัง ขบ. ให้ทราบ ผู้ประกอบการจะถูกปรับเงินจำนวน 10,000 บาท โดยในเรื่องดังกล่าว สหพันธ์ฯ ต้องหารือร่วมกับ ขบ. เพื่อแก้ไขดำเนินต่อไป เนื่องจากในบทลงโทษกรณีแบบนี้ ทางสหพันธ์ฯ มองว่า ผู้ให้บริการระบบจีพีเอส ควรจะมีส่วนรับผิดชอบด้วย โดยผู้ให้บริการระบบจีพีเอสควรแจ้งข้อมูลให้ ขบ. ทราบ แต่ปัจจุบันกลับมาให้ผู้ประกอบการไปแจ้งข้อมูลให้ ขบ.ทราบ เรื่องดังกล่าวได้รายงาน ขบ. เพื่อให้ ขบ. เตรียมประสานงานให้ทางสหพันธ์ฯ เข้าไปหารือกับทางผู้ให้บริการระบบจีพีเอสเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
เร่งภาครัฐสร้างจุดจอดรถใหญ่
สำหรับเรื่องจุดจอดรถใหญ่นั้น แม้ว่าจะมีจุดพักรถบรรทุกที่กรมทางหลวง (ทล.) ให้บริการบริเวณสถานีตรวจสอบน้ำหนักโนนสูง (ขาออก) จ.นครราชสีมา แต่ก็ไม่เพียงพอ และไม่มีรถบรรทุกไปใช้บริการเนื่องจากยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกระบบสาธารณูปโภค อาทิ ร้านอาหาร ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ และห้องอาบน้ำ หรือพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะจูงใจให้รถบรรทุกไปใช้ทำให้รถบรรทุกต้องจอดรถนอนพักข้างริมถนนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและไม่ปลอดภัย ทางสหพันธ์ฯ ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันบางยี่ห้อสร้างจุดพักรถบรรทุกไว้รองรับบริเวณปั๊มน้ำมัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างดี
ศึกษาพื้นที่เหมาะสม 3 แห่ง
ขณะเดียวกันสหพันธ์ฯ มีแผนศึกษาและหาเงินทุนสร้างจุดพักรถนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ 1.อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี พื้นที่ 50 กว่าไร่ 2.ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา ประมาณ 60 ไร่ และ 3.อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา คาดว่าจะสร้างได้ภายในปี 2563 นอกจากนี้ จะพัฒนาสร้างจุดพักรถอีกหลายแห่งครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์, อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์, โนนพยอม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และภาคใต้อีก 2-3 จุด ซึ่งต้องหาข้อสรุปต่อไป
“การสร้างจุดพักรถแต่ละแห่งใช้วงเงินลงทุนไม่เท่านั้น เช่น พื้นที่ 80 ไร่ ใช้วงเงินลงทุน 100 กว่าล้านบาท เพราะต้องสร้างอาคารไว้เป็นพื้นที่ให้ผู้ประกอบการมาเช่าเป็นร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ มีห้องอาบน้ำ และห้องอบรมบริการและความปลอดภัยของพนักงานขับรถบรรทุกด้วย ขณะที่พื้นที่ที่รองรับรถบรรทุก 20-30 คัน ใช้วงเงิน 15-20 ล้านบาท โดยจะสร้างเป็นจุดพักรถ แต่จะมีร้านค้าด้วย จึงต้องการให้ภาครัฐ สนับสนุนค่าก่อสร้างบางส่วน”
เตรียมแผนรองรับท่าเรือบก
ส่วนแผนพัฒนาท่าเรือบกนั้น ภาครัฐได้เตรียมแผนไว้หลายแห่ง อาทิ จ.ขอนแก่น นครราชสีมาอุดรธานี เชียงใหม่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทาง สหพันธ์ฯ จึงเตรียมพร้อมการขนส่งรองรับเปิดใช้ท่าเรือบกในพื้นที่ต่างๆ ไว้แล้ว โดยเฉพาะท่าเรือบกที่โนนพะยอม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่มีสมาชิกสหพันธ์ฯ หลายรายที่เตรียมรถ และอุปกรณ์แคร่ขนส่งสินค้ารองรับเชื่อมท่าเรือบก เพราะบางครั้งแคร่ขนส่งสินค้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ยังมีการปรับแผนการวิ่งรถบรรทุก จากเดิมที่จะต้องขนส่งในระยะยาว ไปยังท่าเรือกรุงเทพฯ หรือท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี สามารถปรับเส้นทางวิ่งให้สั้นลงได้ เน้นวิ่งระหว่างเมืองมากกว่า เช่น ท่าเรือบกจากนครราชสีมา-สระบุรี และ นครราชสีมา-บุรีรัมย์ ขณะที่ท่าเรือบก จากขอนแก่น-กาฬสินธ์ และขอนแก่น-ร้อยเอ็ด เพื่อความสะดวก ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง อีกทั้งการวิ่งขนส่งระยะสั้นจะทำเที่ยววิ่งได้มากกว่าการวิ่งระยะไกล จากการวิ่งระยะไกล 2 วันต่อ 1 เที่ยว ขณะที่วิ่งระยะสั้น 3-4 เที่ยวต่อวัน นอกจากนี้การขนส่งทางรถไฟสะดวกยกสินค้าขึ้นลงได้รวดเร็ว ลดความแออัดบริเวณท่าเรือ
กองบรรณาธิการ TRANS TIME