“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบราง ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็จะต้องลงทุน เพราะถือเป็นการพัฒนาประเทศ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันประชาชนเริ่มหันมาใช้ระบบรางในการเดินทางมากขึ้นแล้ว”
คำกล่าวอย่างมั่นใจของ คุณไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และกล่าวอีกว่า กระทรวงฯ จะเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้ง 5 โครงการ ให้ได้ตามเป้าหมายภายในรัฐบาลนี้ เพราะหลายโครงการยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ที่ดำเนินการโดยกองทัพเรือ โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และโครงการท่าเรือมาบตาพุด ที่อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคาแล้ว ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการเจรจาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และผู้เสนอราคาต่ำสุด คาดว่าจะได้ข้อสรุปตามเป้าหมายที่กำหนดในเดือนเม.ย. 62 นี้
สำหรับการจัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในประเทศนั้น กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการหารือร่วมให้มีการตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศไทย โดยจะเริ่มในปี 2563-2564 ซึ่งนอกจากจะมีการผลิต ประกอบรถไฟในประเทศแล้ว ในอนาคตจะสามารถส่งออกรถไฟฟ้าไปยังประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) คาดว่าจะจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟ รถไฟความเร็วสูงได้ 3 โรงงาน มียอดการผลิตรวมสูงกว่า 900 ตู้/ปี ในปี 2570
นอกจากนี้ จะสามารถลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้ 10 เท่า จากที่มีการนำเข้ากว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือสามารถลดการนำเข้าให้เหลือประมาณ 6-7 พันล้านบาท และยังลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงรักษาได้อีกกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยได้มีความรู้ในการผลิต เพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน และยังช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟ รถไฟฟ้าได้กว่า 3 พันรายการ จากเดิมต้องนำเข้า 7 พัน ถึง 1 หมื่นรายการ รวมทั้งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียน
“กระทรวงฯ อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะมีการผลิตประกอบรถไฟในประเทศแล้ว ในอนาคตยังมีแผนที่จะสามารถส่งออกรถไฟฟ้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและซ่อมบำรุง”
ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563 -2564 โดยจะสามารถจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟ และรถไฟฟ้าได้ถึง 3 โรงงานและมียอดการผลิตรวม 900 ตู้ต่อปี ภายในปี 2570 สามารถช่วยลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 10 เท่าจากเดิมที่มีมูลค่านำเข้ากว่า 7 หมื่นล้านบาท เมื่อมีโรงงานผลิตและประกอบในไทย ต้นทุนจะลดเหลือเพียง 6-7 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาได้อีกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟ รถไฟฟ้าได้อีกกว่า 3,000 รายการ จากเดิมต้องนำเข้ากว่า 7,000-10,000 รายการ รวมถึงจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียนด้วย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้คนไทยได้มีความรู้ในการผลิต เพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน
สำหรับโครงการในอนาคตนั้น จะขยายโครงข่ายรถไฟไปเชื่อมต่อเพื่อนบ้านเพื่อเสริมศักยภาพการเป็นฮับ CLMV ในอีกไม่กี่ปีไทยจะเชื่อมรถไฟทางคู่และรถไฟไฮสปีดเทรนกับสปป.ลาว เช่นเดียวกับทางกัมพูชาที่จะมีการเปิดเดินรถข้ามประเทศเส้นทางไทย-กัมพูชา ช่วงจ.ตราด-เสียมราฐ-พระตะบอง ส่วนด้านรถไฟทางเชื่อมต่อประเทศเมียนมานั้นจะต้องเจรจาให้สามารถเดินรถเชื่อมกันได้อีกครั้งเหมือนในอดีต
อย่างไรก็ตาม หากมองแค่ดีมานต์ในประเทศ ในอนาคตประเทศไทย จะมีการขนส่งระบบรางใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งโครงการที่จะเห็นในเร็ววันนี้คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการรถไฟฟ้าในเมืองและปริมณฑล 10 สาย, โครงการรถไฟฟ้ารางเบาในภูมิภาค(แทรม) และระบบรางฟีดเดอร์ จะเป็นการให้บริการในกรุงเทพ โดยนำรถเมล์ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นฟีดเดอร์รับส่งผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าไปถึงที่หมายโดยรถเมล์