สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดประชุมสัมมนา ครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง งานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค เมื่อวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องประชุม อินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมสัมมนาฯ ดังกล่าว
ปัจจุบัน ท่าเรือแหลมฉบังถือว่าเป็นประตูการค้าหลักของประเทศไทย โดยปี พ.ศ. 2560 มีปริมาณคอนเทนเนอร์ผ่านเข้า – ออกท่าเรือ จำนวน 7.67 ล้านตู้ และรถยนต์ 1.2 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 8.64 นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ที่จะเปิดประมูลในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึงปีละ 18 ตู้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการจราจรบริเวณโดยรอบท่าเรือ แม้ว่ามีสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ ไอซีดี ลาดกระบังให้บริการอยู่แล้ว แต่ปริมาณคอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเต็มความจุ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมี
การกำหนดแนวทางการพัฒนาและกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบกให้ชัดเจน เพื่อลดความแออัดบริเวณรอบท่าเรือแหลมฉบัง โดยกระทรวงคมนาคมกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนร้อยละ 5.5 เพิ่มเป็นร้อยละ 30 โดยท่าเรือบกที่จะพัฒนานี้ ทำหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าเหมือนท่าเรือ ประกอบด้วย 3 ชนิด ได้แก่ 1) ท่าเรือบกใกล้ท่าเรือ (Close Dry Port) 2) ท่าเรือบกระยะกลางประมาณ 300 กม.จากท่าเรือ (Mid-range Dry Port) และ 3) ท่าเรือบกที่ชายแดน (Distant Dry Port) เพื่อตอบสนองต่อปริมาณการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตในแต่ละพื้นที่
กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้ สนข. ดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และนโยบายการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย
ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เป็นโครงข่ายหลัก การพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทยยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบกให้เป็นกลไกสำคัญตอบสนองการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทยและของประเทศเพื่อนบ้านผ่านท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค หรือ กลุ่มประเทศ CLMV และกำหนดแนวทางการพัฒนายพื้นที่ที่มี
ความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบก ซึ่งที่ผ่านมา สนข. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อหารือหรือพบปะกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 2 ครั้ง การสัมภาษณ์เชิงลึกกว่า 40 หน่วยงาน และได้มีการจัดสัมมนาประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้ว จำนวน 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตั้งแต่ขั้นตอนศึกษา การวางแผนโครงการ เพื่อให้การดำเนินการตัดสินใจในการดำเนินโครงการฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ชอบธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมจะพัฒนาท่าเรือบก ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครราชสีมา
จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครสวรรค์ โดยเสนอให้มีการพัฒนา Boarder Logistics Park เพื่อรวบรวม กระจายสินค้าและเพิ่มมูลค่าที่จังหวัดชายแดน อาทิ จังหวัดหนองคาย มุกดาหาร เชียงราย ตาก สระแก้ว และสงขลา เป็นต้น ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงกันด้วยระบบโครงข่ายคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้ผ่านขั้นตอนของการสรุปผลการศึกษาเรียบร้อยแล้ว สนข. จึงได้จัดประชุมสัมมนา ครั้งที่ 2 ขึ้นในวันนี้ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการฯ ประกอบด้วย ภาพรวมผลการศึกษา ระเบียบ ข้อกำหนด ความตกลงระหว่างประเทศ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ แนวคิด รูปแบบ มาตรฐานการออกแบบ และการบริหารจัดการ การพัฒนาท่าเรือบก และรับฟังความเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนทั้งนี้ สนข. จะนำความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปประกอบการจัดทำร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) ของการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคต่อไป