ทล.เล็งเปิดร่วมทุนพีพีพีเน็ทคอสปั้นทางด่วน 4.8 หมื่นล้านช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว แก้รถติดสายลงใต้ คาดกวาดรายได้ปีละ 1 พันล้านตั้งแต่เปิดใช้ก่อนพุ่งแตะปีละ 8 พันล้านบาท คาดปริมาณจราจร 1 ใน 3 เปลี่ยนมาใช้ทางด่วน ด้านอธิบดีทางหลวงสั่งเร่งเมกะโปรเจ็กส์ 1.5 แสนล้านช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.)เปิดเผยว่าทล.ได้จัดงานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน(Market Sounding) โครงการทางยกระดับหมายเลข 35 ช่วงบางขุนเทียน-วังมะนาว แบ่งเป็น 3 เฟส ได้แก่ เฟส 1 ช่วงบางขุนเทียน-มหาชัย ระยะทาง 10 กม. วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาทและเฟส 2 ช่วงมหาชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม. วงเงินลงทุนรวมกัน 4.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 2.96 หมื่นล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษาตลอดอายุสัมปทาน 1.61 หมื่นล้านบาท ค่าก่อสร้างด่านงานระบบ 1.26 พัน ค่าเวนคืนที่ดิน 640 ล้านบาท และอื่นๆ 670 ล้านบาท สำหรับรูปแบบที่คาดว่าจะนำมาใช้คือการร่วมทุนแบบ PPP Net Cost โดยฝ่ายรัฐจะลงทุนงานก่อสร้างเฟสแรก 1.05 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอกชนลงทุนงานก่อสร้างเฟส 2 และงานบริหารรวมถึงบำรุงรักษาตลอดเส้นทางเฟส 1-2 รวมมูลค่า 3.16 หมื่นล้านบาท โดยเอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมด พร้อมงานบริหารและรับความเสี่ยงพร้อมแบ่งรายได้ให้รัฐตามสัดส่วนที่ตกลงกัน บนอายุสัมปทาน 33 ปีแบ่งเป็นก่อสร้าง 3 ปีและงานบริหาร 30 ปี โดยมีกรรมสิทธิ์โครงการแบบ BTO คือภาคเอกชนต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้รัฐบาลทั้งหมด เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลปี 2562-2563 เริ่มต้นก่อสร้างปี 2566 ทั้งนี้คาดว่าปริมาณยานพาหนะบนถนนเส้นดังกล่าวมากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดจะหันมาใช้ทางยกระดับเมื่อเปิดให้บริการ ปัจจุบันมีปริมาณราว 170,000 คัน/วัน
นายอานนท์ กล่าวต่อว่าตัวเลขคาดการณ์ปริมาณจราจรในโครงการนี้ในปีแรกที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 48,000 คัน/วัน แบ่งเป็นสัดส่วนรถยนต์ 4 ล้อ 85% และรถยนต์ขนาด 6 ล้อขึ้นไป 15% ก่อนเพิ่มเป็น 100,000 คันในปี 2036 คิดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ก่อนจะเติบโตไปจนถึงระดับ 220,000 คัน/วัน ในปี 2051 ส่วนด้านประมาณการรายได้ในปีแรกที่เปิดบริการนั้นอยู่ที่ 1,095 ล้านบาท คิดเป็น 3ล้านบาท/วัน ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ปีละ 3,650 ล้านบาท ในปี 2036 คิดเป็นการขยายตัว 233% ขหรือคิดเป็น 10 ล้านบาท/วัน ก่อนจะมีรายรับช่วงปลายสัมปทานในปี 2051 จะอยู่ที่ 8,030 ล้านบาท คิดเป็น 22 ล้านบาท/วัน ขณะที่อัตราค่าผ่านทางของโครงการนี้นั้นสำหรับรถยนต์ 4 ล้อมีค่าแรกเข้า 10 บาทและคิดเพิ่ม 2 บาท/กม. ขณะที่รถยนต์ขนาด 6 ล้อจะมีค่าแรกเข้า 16 บาทและคิดเพิ่ม 3.2 บาท/กม. ส่วนรถยนต์มากกว่า 6 ล้อจะมีค่าแรกเข้า 23 บาทและคิดเพิ่ม 4.6 บาท/กม. ส่งผลให้ประมาณการค่าใช้จ่ายตลอดเส้นทางช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. แบ่งเป็น รถยนต์ 4 ล้อ 60 บาท รถยนต์ 6 ล้อ 96 บาทและรถยนต์มากกว่า 6 ล้อ 138 บาท
ทั้งนี้ รูปแบบโครงการจะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 3.6เมตร โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณจุดเชื่อมต่อทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก และมีจุดสิ้นสุดโครงการช่วงบ้านแพ้ว ทั้งนี้ตามแผนนั้นจะต่อขยายเฟส 3 ไปวังมะนาวเพื่อบรรจบกับมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ
นายอานนท์กล่าวต่อว่าสำหรับโครงการที่ต้องเร่งเปิดประมูลในช่วงสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้นั้นมีทั้งหมด 3 โครงการได้แก่ 1.โครงการทางยกระดับหมายเลข 35 เฟส 1 วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาท แบ่งประมูล 3 สัญญา จะประกาศเชิญชวนเอกชนในเดือนนี้ ก่อนเปิดประมูลปลายเดือนธ.ค.นี้ 2.โครงการบริหารงานระบบและบำรุงรักษามอเตอร์เวย์สองสาย ช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา และช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาทนั้นจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน และเปิดประมูลภายในเดือนธ.ค.นี้ คาดว่าจะได้ตัวเอกชนต้นปีหน้า ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดทีโออาร์ใหม่หลังปรับแก้ไขใหม่ 3.โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนเข้าสู่การร่างทีโออาร์ต่อไป คาดว่าจะเร่งประมูลในปี 2562 ต่อไป
รายงานข่าวทล.ระบุว่าการเปิดเวทีในครั้งนี้ทีเอกชนเข้าร่วมอย่างคึกคักทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ รวมเอกชนเจ้าใหญ่ 19 ราย แบ่งเป็น งานก่อสร้าง 16 ราย อาทิ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD บริษัทบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เป็นต้น ส่วนด้านงานระบบ มีสนใจ 3 ราย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสถาบันการเงินอย่างธนาคารญี่ปุ่นอีกด้วย