กระทรวงพลังงานสหรัฐฯเปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2564 ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2563 โดย All-Electronic Vehicle (EV) มียอดขายเพิ่มขึ้น 85% และรถยนต์ plug-in hybrid electric vehicles (PHEVs) มียอดขายเพิ่มขึ้น 138% ในขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาบมียอดขายเพิ่มขึ้นเพียง 3% ขณะที่ประธานาธิบดี Joe Biden มีนโยบายผลักดันให้ส่วนแบ่งยอดขาย รถฟ้าเป็น 50% ของยอดขายรถใหม่ทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของนโยบาย Build Back Better ที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างสถานนีชาร์จรถไฟฟ้าทั่ว สหรัฐฯ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ EV มากขึ้น
J.D. Power รายงานว่า 24% ของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่กำลังตัดสินใจซื้อรถคันใหม่จะเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้นจากปีก่อน 4% โดยมีหลายปัจจัยหลักคือ ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายเริ่มมีรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ตอบสนองการใช้งานได้หลายกลุ่มลูกค้ามากขึ้น อาทิ รถกระบะไฟฟ้า
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่าผู้ใช้รถที่ต้อง ขับรถไปทำงานบ่อยมักเริ่มสนใจรถยนต์ EV มากขึ้น เนื่องจากคาดหวังว่าการใช้รถ EV จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และจากข้อมูลข้างต้นสามารถคาดการณ์ได้ว่าตลาดรถ EV และ รถ Hybrid ในสหรัฐฯ กำลังมีแนวโน้มเติบโตสูงเมื่อเทียบกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาบ ตลอดจนความต้องการและค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคจะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ อะไหล่และส่วนประกอบยานยนต์ของไทย
ทั้งนี้ สิ่งแรกที่ควรคำนึงคือความแตกต่างระหว่างรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป โดยรถยนต์ ไฟฟ้าจะมีชิ้นส่วนหลายชิ้นที่เปลี่ยนหรือหายไป โดยเฉพาะส่วนระบบขับเคลื่อน (Drivetrain) เครื่องยนต์ (engine) ถังน้ำมัน (Fuel tank) แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีส่วนของมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ รวมถึงอุปกรณ์ ด้านระบบพลังไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาแทนที่ระบบขับเคลื่อนสันดาบ
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์โลกถูกขับเคลื่อนโดยระบบห่วงโซ่อุปทานที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีการ Sourcing สินค้าต่อเป็นขั้นๆ ไปตามรูปประกอบด้านล่าง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลาง (Tier 2) และผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก (Tier 3) ซึ่งอยู่ในต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ส่งวัตถุดิบและชิ้นส่วน ต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่กว่าและอยู่ปลายห่วงโซ่อุปทาน (OEM และ Tier 1) อาจจะทำให้มีความเสี่ยงหากผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Tier 1 ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ OEM ต้องปรับตัวโดยการหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์ EV มากขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องปรับตัวทางธุรกิจตามไปด้วย โดยแนวโน้มปัจจุบัน ที่ความต้องการรถยนต์เครื่องยนต์สันดาบกำลังมีอัตราการเติบโตที่ลดลง สวนทางกับรถยนต์ EV และ Hybrid ที่กำลังมี แนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานระบุอีกว่า ในปัจจุบันสหรัฐฯ มีการนำเข้ารถยนต์เข้ามาจำนวนมาก โดยในปี 2564 มียอดการนำเข้ารถยนต์คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจาก ญี่ปุ่น เม็กซิโก และแคนาดา สำหรับไทย ในปี 2564 สหรัฐฯ มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 215 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2563 แต่อย่างไรก็ดี การนำเข้าของสหรัฐฯ จากไทย ในภาพรวมลดลงจากปีก่อน (2561-2562)
ในทางกลับกัน หากดูข้อมูลตัวเลขการนำเข้ายานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า สหรัฐฯมี แนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2564 สหรัฐฯ มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 215 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ไม่พบข้อมูลการนำเข้าสินค้าตามพิกัดภาษีดังกล่าวจากไทย
ด้วยเหตุนี้ จากแนวโน้มสถิติดังกล่าว ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยอาจต้องวางแผนปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อน (Drivetrain) ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ (Engine) เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่ไม่มีใน ระบบรถยนต์ EV แม้ว่าปัจจุบันผู้ผลิตกลุ่มดังกล่าวอาจยังได้รับอานิสงค์จากความต้องการรถยนต์ Hybrid ที่ยังคงใช้เครื่องยนต์สันดาบเป็นระบบขับเคลื่อนหลักอยู่ โดยผู้ประกอบการไทยควรวางแผนปรับกลยุทธ์และการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตให้เข้ากับเทรนด์ในปัจจุบันมากขึ้น โดยระบบชิ้นส่วนสำคัญของรถ EV คือระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Motor Control) ระบบจัดการพลังงาน(Energy Management System) ระบบแบตเตอร์รี่ ระบบส่งกำลังไฟฟ้า (Transmission System) และระบบควบคุมรถยนต์ (Driving System)
รวมทั้ง อาจมองหาโอกาสในการ ร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติในการผลิต EV ที่จะนำไปสู่การถ่ายทอดทางเทคโนโลยี(Technology Transfer) ที่จะ เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการพัฒนากระบวนการผลิตรถยนต์ EV หรือชิ้นส่วนภายใต้แบรนด์ของตนได้ใน อนาคต นอกจากนี้ อาจมีชิ้นส่วนรถยนต์ EV ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการเปิดให้ผู้ประกอบการ ไทยสามารถเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของห่วงโซ่อุปทานนี้ได้
แหล่งที่มา:
ธนาคารแห่งประเทศไทย, J.D. Power, The White House briefing room, U.S. Department of Energy 16 มิถุนายน 2565
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก