เสียงเล็กๆ ของบริษัทผู้ผลิตสิ้นส่วนยานยนต์คนไทย
ภายใต้โครงการEEC
ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี
การจะเกิดขึ้นภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) ซึ่งจังหวัดชลบุรี คือหนึ่งในจังหวัดยุทธศาสตร์สำคัญ คำถาม คือ ชลบุรี มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มดิ้นเงิน ดิ้นทองในลายผ้าที่สวยหรูอยู่แล้วหรือไม่ การเกิดขึ้นของ EEC จะทำลายสมดุลของชลบุรีในปัจจุบันหรือไม่ ทั้งจะมีผลเสียต่อภาคอุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่แค่ไหน ?
‘ดร.สาโรจน์ วสุวานิช’ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ตัวแทนในภาคอุตสาหกรรมซึ่งต้องมองทั้งระบบ ซึ่งกรณีการที่ภาครัฐมีความพยายามผลักดันโครงการEEC นี้ เขามองว่าจะเกิดประโยชน์ ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรม ที่เป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ หรือ First S-Curve ทั้ง ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S-Curve อาทิ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิตอล และการแพทย์ครบวงจร หากทำได้จริง สิ่งเหล่านี้คืออนาคต นับเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย เราต้องเตรียมทั้งองค์ความรู้ และแรงงานไว้รองรับอีกมาก”
จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีศักยภาพทั้งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การจำกัดโซนในนิคมอุตสาหกรรม จะทำให้การดูแลเป็นระบบและมีมาตรฐาน ดังนั้นผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวหรือชุมชนนั้นคาดว่าคงไม่กระทบ แต่ ปัญหาที่มองคือเรื่องของน้ำ เพราะแหล่งน้ำในจังหวัดชลบุรีแม้จะมีพอสำหรับปัจจุบัน แต่ในอนาคต หากมีอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาก็ต้องมีการเตรียมการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้า
ด้านอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชลบุรี อีกบทบาทหนึ่ง ของ ดร.สาโรจน์ คือการดำรงตำแหน่ง กรรมการและรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน). หนึ่งในกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีถือหุ้นโดยคนไทย 100 เปอร์เซนต์ และมีโรงงานผลิต 40 กว่าโรงงานทั่วโลก ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ป้อนให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์แทบทุกยี่ห้อในปัจจุบัน แทบจะครอบคลุมในทุกกลุ่มชิ้นส่วนประกอบรถยนต์
ดร.สาโรจน์ บอกว่า วงจรเดิมๆของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ กลุ่มผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศไทยซึ่งเป็นต่างชาติ จ้างบริษัทคนไทยผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิตรถยนต์ แต่ทว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้หันไปส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สัญชาติเดียวกันที่เข้ามาลงทุน แข่งขันกับธุรกิจคนไทย ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมขึ้น คือ ด้วยความชาตินิยมของคนบางประเทศ จึงต่างส่งเสริมบริษัทคนชาติเดียวกัน ทั้งบริษัทเหล่านี้ต่างได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีจาก BOI ผลที่ตามมาคือบริษัทคนไทยต่างทยอยตกขบวน ล้มลาย ปิดกิจการไปก็มีมาแล้ว และต้องลดตัวเองลงไปเป็นผู้ผลิตรายย่อยลำดับ 2 และ3 ด้วยเหตุนี้ ในภาพของการเกิดขึ้นของ EEC ในมุมมองของการที่ภาครัฐสร้างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยานยนต์ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตชาวต่างชาติ
ดังนั้นการที่ BOI จะส่งเสริมควรจะต้องมองบริษัทคนไทยด้วย ต้องมีเทคนิคในการช่วยเหลือรายย่อย ของเราด้วย ยกตัวอย่าง ไทยซัมมิทฯ ไปลงทุนใน สหรัฐอเมริกา ทางอเมริกาเองก็มีวิธีการในการที่จะบีบให้เราต้องใช้สินค้าของคนท้องถิ่นที่นั้นด้วย จริงอยู่เราอยู่ภายใต้การแข่งขันเสรีในตลาดโลก แต่วิธีการที่เราสามารถปกป้องอุตสาหกรรมในท้องถิ่นหรือของคนไทยด้วยกันนั้นสามารถทำได้ เพราะแม้แต่ในอเมริกาที่เป็นคนคิดระเบียบ WTO ผลักดันการค้าเสรี แต่หากเราไปลงทุนโรงงานผลิตที่อเมริกา แล้วจะใช้เฉพาะสินค้าที่ผลิตโดยคนไทยนั้นไม่ได้ เค้าจะมีวิธีการมาบังคับทางอ้อมให้เราใช้สินค้าหรือส่วนประกอบที่เป็นของท้องถิ่นของเค้าด้วย มันไม่มีอะไรแฟร์ๆ หรอก ด้วยเหตุนี้ ภายใต้โครงการ EEC มีต่างชาติเข้ามาลงทุน การส่งเสริมด้านภาษีเพื่อจูงใจรัฐก็ทำไป แต่เราต้องปกป้องบริษัทคนไทยขนาดเล็กในพื้นที่ให้ได้รับผลประโยชน์จากการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วย การที่เราไม่เล็งเห็นว่าสิ่งดังกล่าวอาจจะไปทำลาย SMEs ท้องถิ่นโดยที่เราไม่รู้ตัว
ขณะที่จะมองว่าเราจะผลิตรถยนต์สัญชาติไทยมาขายเอง แต่ที่ผ่านมาเคยมีคนทำ ก็ขาดทุนไปหลายราย เพราะการที่จะทำรถเพื่อขาย นั้น ต้องมีหลายศักยภาพ ผมคิดว่า บริษัทคนไทยยังทำไม่ได้ เราผลิตขึ้นเป็นคันเพื่อโชว์นั้นทำได้ แต่หากจะผลิตเพื่อขาย ให้แบรนด์อยู่ได้นั้น ผมว่าตอนนี้เรายังไม่สามารถทำได้ เพราะรถแต่ละคัน ประกอบด้วนชิ้นส่วนมากมาย เทคโนโลยีอีกมาก เราทำได้แค่บางส่วน ทั้งยังต้องมีตลาดที่รองรับ เรามองดูเหมือนง่าย แต่ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยายนต์ เรามองว่าไม่ง่าย’’