หลังจากที่บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ RTC ได้เปิดเดินรถโดยสารภายในจังหวัดเชียงใหม่ โดยคิดราคาค่าโดยสารเพียงแค่ 20 บาทตลอดสาย ซึ่งมีเสียงตอบรับจากผู้โดยสารดีเกินคาด เพราะประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้น
TRANS TIME ฉบับนี้ จึงขอ “ล้วงตับเคล็ดลับขนส่ง” คุณฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ RTC ถึงความคืบหน้าการทดลองวิ่งให้บริการรถเมล์ RTC smart bus ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้พี่น้องสมาชิกได้ทราบกัน
คุณฐาปนา เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา RTC ได้เปิดการทดลองวิ่งให้บริการรถ RTC smart bus เพิ่มอีก 2 เส้นทางได้แก่ เส้นทาง R2 เริ่มจากสนามบินเชียงใหม่-ช้างคลาน-หนองหอย-สุดปลายทางที่ศูนย์การค้าพรอมเมนาดา
โดยเส้นทางนี้ผ่านย่านการค้าและการท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ย่านโรงแรมและที่พักนักท่องเที่ยวช้างคลานและย่านไนท์บาซาร์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้าพักมีจำนวนเป็นอันดับหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ นอกจากนั้น ยังผ่านย่านการค้าหนองหอยซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของเมืองเชียงใหม่ และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยพร้อมสถาบันการศึกษาสำคัญๆ อีก 2 แห่ง ระยะทาง 22 กิโลเมตร
อีกเส้นทางที่จะเปิดบริการพร้อมกันคือเส้นทาง B4 เริ่มต้นจากสนามบินเชียงใหม่-ย่านชุมชนเก่าวัดเกด-อาเขตหรือสถานีขนจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 2 และสิ้นสุดทางที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เส้นทางนี้จะเน้นการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ สถานีขนส่งแห่งที่ 2 กับสนามบินเชียงใหม่ ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางกับ RTC Smart Bus ในช่วงปกติไม่เกิน 40 นาที โดยมีระยะทาง 18 กิโลเมตร
และเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ทาง RTC ได้เปิดให้บริการทดลองวิ่งในเส้นทางสาย R4 เริ่มต้นที่ศูนย์ราชการเชียงใหม่หรือศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านมายังคูเมืองเก่า ต่อมาที่สนามบิน อุทยานราชพฤกษ์ และสุดท้ายที่ไนท์ซาฟารี ระยะทางโดยรวม 45 กิโลเมตร ซึ่งในช่วงต้นอาจพิจารณาให้บริการเต็มเส้นทาง โดยจะค่อยๆ ลดความยาวของระยะทางลงตามเวลาของผู้ใช้บริการ เช่น ช่วงวันหยุดราชการอาจให้วิ่งบริการถึงศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่
สำหรับเส้นทาง R4 นี้ จุดบริการสำคัญนอกจากศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เส้นทางยังผ่านศูนย์การประชุมนานาชาติ สนามกีฬาจังหวัด ย่านการค้าและกลุ่มที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ของถนนห้วยแก้ว ศูนย์การค้าเมย้า ย่านนิมมานฯ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว ย่านท่องเที่ยวคูเมืองเก่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ต สนามบินเชียงใหม่ สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ และอุทยานราชพฤกษ์ เป็นต้น
เมื่อรวมกับเส้นทางที่เปิดให้บริการไปแล้ว 2 เส้นทางได้แก่ เส้นทางสาย R1 ซึ่งเริ่มต้นจากสวนสัตว์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์การค้าเมย่า สถานีขนส่งแห่งที่ 1 สถานีขนส่งแห่งที่ 2 และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล และสาย R3 ซึ่งเป็นสายแรกที่ RTC เปิดบริการ (สนามบิน-ตลาดวโรรส ไนท์บาซารึและสนามบิน) RTC จะมีเส้นทางให้บริการรวม 5 เส้น ครอบคลุมปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะประมาณ 40% ของเมืองเชียงใหม่
โดยโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนของ RTC จะเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง (transportation choices) ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว จากการประมาณการเชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้พื้นผิวถนนในพื้นที่บริการในช่วง 5 ปีข้างหน้า 20% และ10 ปีข้างหน้า 30% (กรณีที่ประชากรเมืองเชียงใหม่เติบโตในอัตราปกติ)
สำหรับการวางโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนของ RTC เมืองเชียงใหม่ นอกจากจะมีเป้าหมายในการเพิ่มทางเลือกการเดินทางแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวแล้ว RTC และสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ต้องการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง สามารถรองรับการเติบโตด้านพาณิชยกรรม การบริการ การท่องเที่ยว และการอยู่อาศัยในระยะยาว โดยศูนย์เศรษฐกิจที่ต้องการพัฒนาได้แก่ ศูนย์เศรษฐกิจนวัตกรรมถนนห้วยแก้ว ดังจะเห็นได้ว่า RTC ได้วางโครงข่ายขนส่งผ่านใจกลางศูนย์เศรษฐกิจจำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง R1, R3 และ R4 ซึ่งเส้นทางทั้งสามจะสามารถเชื่อมโครงข่ายการเดินทางไปยังสนามบิน สถานีขนส่ง ย่านการค้าสำคัญ ๆ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเชียงใหม่ได้เป็นส่วนใหญ่