วารสารTRANS TIME ฉบับที่ 24 ประจำเดือนเมษายน 2561 ครบรอบปีที่ 4 ก้าวสู่ปีที่ 5 ‘สอพินยา’ ยังคงรับหน้าที่รายงานทุกความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์และกิจการรถเพื่อการพาณิชย์เช่นเคย ภายหลังรัฐบาลทหารประกาศอัดเม็ดเงินกว่า 2 ล้านล้านบาทยกเครื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นแม่งานขับเคลื่อนโครงการ
แต่ดูเหมือนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา งานใหญ่ที่บรรจุไว้ในแผนเร่งด่วนในส่วนของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างจะยังไม่ราบรื่นมากนัก ตามยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2565 เพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ให้ลุล่วง ทว่าปีกลองการเมืองเริ่มบรรเลง ทั้งหากมีการเลือกตั้งและผลัดเปลี่ยนเก้าอี้ดนตรีกันอีกครา ก็ไม่แน่ว่าโครงการเมกะโปรเจกต์ ทั้ง รถไฟทางคู่ 5 สายทาง โครงการรถไฟความเร็วสูง และอื่นๆ จะสามารถผลักดันต่อได้หรือไม่ เรื่องนี้ในไม่ช้าเราท่านคงได้ทราบกัน
*** ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รมว.คมนาคม ซึ่งในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้มีการอัพเดตความคืนหน้าโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ได้ออกมายอรับว่า โครงการของคมนาคมดำเนินไปอย่างล่าช้า จากปัจจัยการเบิกจ่ายงบประมาณ การประกวดราคา และการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนถึงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน แต่ก็เน้นย้ำว่า ทุกโครงการจะเกิดขึ้นแน่นอนใน 8 ปี แต่ไม่อยากให้กำหนดกรอบเวลาตายตัว ว่าโครงการไหนจะประมูลได้เมื่อไหร่ เพราะหากพูดออกไป จะกลายเป็นนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ ก็เป็นไป
ดูถ้อยแถลงท่าน รมว.คมนาคม ที่มีทีท่าน้อยอกน้อยใจ ก็น่าเห็นใจและเข้าใจ เพราะอย่างไรเสีย โครงการต่างๆในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนสงและโลจิสติกส์ของประเทศ ช่วงเวลา 3 ปีที่ท่านนั่งแท่นเจ้ากระทรวงหูกวาง ก็สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ให้สามารถผ่าทางตันและดำเนินการไปสู่การก่อสร้างได้ในที่สุด และในฐานะที่ท่านเองก็เป็นคนในแวดวงขนส่งเก่าก่อน เคยเป็นเลขาฯสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เน้นการขับเคลื่อนคมนาคมของประเทศ ก็ย่อมทราบดีถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในด้านคมนาคมขนส่งของไทยเป็นอย่างดี ได้โอกาสลงมือทำงานก็ขอให้ทำด้วยความมุ่งมั่นและสุจริตนะขอรับ ส่วนโครงการไหนจะเสร็จทันหรือไม่ทันตามกรอบเวลาที่วางไว้เชื่อว่าประชาชนที่เสพข่าวอย่างมีสติจะเข้าใจขอรับ
*** แต่ที่แน่ๆ งานนี้ทันแน่นอนขอรับ…เพราะภายหลังที่ท่าน รมช.คมนาคม ‘ไพรินทร์ ชูโชติถาวร’ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าแผนการประกอบติดตั้งรถเมล์ NGV 489 คัน รุ่นใหม่ชานต่ำ35ที่นั่ง สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ล่าสุดช่วงวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO นำโดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ส่งมอบรถล็อตแรก จำนวน 100 คัน ให้ ขสมก. จากนั้นจะทยอยส่งมอบรถส่วนที่เหลือ ครบ 489 คัน ภายในเดือนมิถุนายน 2561 หลังรับมอบรถครบ 489 คัน แล้ว ขสมก. จะทยอยนำรถออกให้บริการประชาชนในเส้นทางที่ได้กำหนดไว้ 25 เส้นทาง
แต่ภายหลังวิ่งรับส่งผู้โดยสายมาได้ 3 วันรถเมล์คันใหม่เอี่ยมอ่องก็เสียแล้วนะออเจ้า….
*** โดยภายหลังเหตุการณ์ดราม่าหน้าแหกของใครบางคน ทาง ขสมก.ก็ออกโรงเป็นพระเอกขับรถเมล์เอ็นจีวีมาโอบอุ้ม โดย ครูปรีชา เอ้ย … ‘ประยูร ช่วยแก้ว’ รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. ที่ชี้แจงว่าเหตุขัดข้องเครื่องยนต์ใหม่เอี่ยมดับ เนื่องจากการตั้งค่าสายพานคอมเพรสเซอร์แอร์ไม่เหมาะสม ส่งผลให้สายพานคอมเพรสเซอร์แอร์ขาด ซึ่งได้แก้ไขเสร็จแล้วนะออเจ้า สบายใจได้
เข้าใจอะนะว่า ความผิดพลาดมันเกิดขึ้นได้จากไลน์การผลิต แต่ส่งมอบล็อตแรกวิ่งได้ 3 วันเสียนี่ ถึงแม้จะไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก แต่ภาวะจิตใจคนจ่ายภาษีที่บอบบางสุดๆ นั้นก็ค่อนข้างจะทำใจลำบาก เพราะกว่า 13 ปีที่คนกรุง เฝ้าคอยชะเง้อ แหงนคอรอคอย ‘รถเมล์ในฝัน’ ที่หลายรัฐบาลหมายเอามาทดแทนรถเมล์เก่ารุ่นพระเจ้าเหา ที่พอกสี ขัดสนิมมาหลายรอบ แต่ลงเอยด้วยการที่รถเมล์คันใหม่เครื่องยนต์ดับไปดื้อๆ เย้ยสายตาท่านผู้ชม …ล้อกันเล่นขำๆ นะขอรับ คราวหลังก็ตรวจสอบให้ดีก่อนส่งมอบ อย่าหมายรีบเร่งให้ทันเวลาโดยละเลยการตรวจสอบคุณภาพ เพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งานอย่างยาวนาน ควรค่าแก่การรอคอย
*** อ้าวเฮ้ย …ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา …ยังอยู่ที่ ขสมก.อีกนั่นแหละ กับกรณี ยกเลิก Cash box ได้ติดตั้งไปแล้วบนรถเมล์ ภายหลังพบระบบไม่เสถียร ไม่สามารถใช้งานได้จริงตามที่คุยกันไว้นี่นา … ทำให้แผนการการลดพนักงานเก็บค่าโดยสารที่คุยกันไว้ดิบดีก่อนหน้านี้เป็นอันล้มเลิกไปก่อน
โดยเรื่องนี้ ขสมก. ออกมาชี้แจงว่า ตามที่ ขสมก.ดำเนินการจัดหาและติดตั้งระบบ E-Ticket และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash box ในรถโดยสาร จำนวน 2,600 คัน ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดย ขสมก. ได้ทำสัญญาเช่าเครื่อง E-Ticketกับกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) มีกำหนดการเช่า 5 ปี ซึ่ง ขสมก. ยังไม่ได้ทำการตรวจรับงานจากการทดสอบระบบของคณะกรรมการตรวจรับ เพราะพบว่าเครื่องอ่านบัตร E-Ticket สามารถอ่านบัตรได้ใช้งานได้ตามเงื่อนไข TOR ส่วนเครื่อง Cash box ระบบไม่เสถียรทำงานไม่สมบูรณ์ และได้ยกเลิกสัญญาเฉพาะในส่วนของเครื่องเก็บค่าโดยสาร แต่ในอนาคต ขสมก. จะใช้ระบบเครื่องอ่านบัตร หรือ E-Ticket เพียงอย่างเดียว
สัญญาเช่า …ผิดสัญญาฉีกสัญญาทิ้ง ในส่วนค่าปรับผู้ให้เช่าต้องจ่ายค่าปรับจนถึงวันที่ยกเลิกสัญญา ง่ายดีนะขอรับ ถามจริง ก่อนไปเช่าของเขามานี่แหกตาดูบ้างรึเปล่าว่ามันใช้ได้มั้ย มีการทดลองใช้งานก่อนทำสัญญาเช่ามั้ย แหมๆ พอค้นข่าวดูปีที่แล้วช่วงเดือนกันยายนปรากฏว่าเอา ‘พิชิต อัครทิตย์’ รมช.คมนาคม ไปยืนหัวโด่ ยิ้มแป้นแล๊น เป็นประธานในพิธีเปิดตัวระบบบัตรโดยสาร E-Ticket แถมคุยเป็นคุ้งเป็นแคว ทำพีอาร์โชว์ความโง่เง่าเสียใหญ่โตนี่สูญเสียเงินไปเท่าไหร่ เพราะนี่ยังไม่นับตอนเดือนตุลามคมปีที่แล้วที่อันเชิญ ‘บิ๊กตู่’ ไปยืนยันว่าบัตรโดยสาร E-Ticket ใช้ได้ดี ทั้งที่จริงๆก็แค่พีอาร์ ไม่ได้ใช้จริง ทำลิงหลอกเจ้าไปวันๆ อย่ามาอ้างอีกนะขอรับว่า เครื่อง E-Ticket ใช้ได้ ที่เสียใช้ไม่ได้คือ Cash box เพราะตอนนี้ทั้งสองระบบยังไม่ได้มีการใช้จริง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่น่าแปลกใจนะขอรับว่าทำไม ขสมก.จึงหนี้ท่วมหัวจนต้องเข้าแผนฟื้นฟู
***“อาชีพของสุจริตชน ต้องมีที่ยืนบนแผ่นดินไทย ขอความกรุณาอย่าตัดสินว่าพวกเราทุกคนเป็นฆาตกรบนท้องถนน เราสัญญาว่าทุกชีวิตของผู้โดยสารมีค่าสูงสุดที่เราต้องดูแลครับ ขอประณาม พนังงานขับรถ ที่ไม่มีความรับผิดชอบ และขอให้จนท ดำเนินคดีให้สูงที่สุดเพราะเค้ากำลังทำลายอาชีพของพวกเรา คนที่จะต้องเดือดร้อนอีกหลายพันครอบครัว หากรัฐออกคำสั่งเลิกรถ 2 ชั้น” ถ้อยวาจาของ ‘ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร’ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย(สปข.) และอดีตนายก สปข. ที่โพสเฟสบุ๊ค ส่วนตัวและ ‘สอพินยา’ ก็ไปอ่านเจอเลยคัดลอกมา ซึ่งสืบเนื่องกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถบัส 2 ชั้น คว่ำบริเวณ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 32 ราย และเสียชีวิต 18 ราย ซึ่งกระแสสังคมในขณะนั้น นอกจากจะประนามพนักงานขับรถที่เมายา บริษัทขนส่งที่ขาดความรับผิดชอบต่อสภาพรถและพนักงาน อีกสาเหตุหนึ่ง คือกรณี รถบัส 2 ชั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถหมวด 30 ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 5000 คัน ต่างกังขาว่าปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับการวิ่งระยะไกลหรือไม่
สุดท้ายเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การที่ กรมการขนส่งทางบกจะทำหมันรถบัส 2 ชั้น โดยไม่รับจดทะเบียนรถบัส 2ชั้นหมวด 30 ใหม่แล้วและไม่อนุญาตให้รถบัสที่มีความสูงเกิน 4 เมตรจดทะเบียนและวิ่งโดยเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น รวมทั้งเตรียมมาตรการในการจำกัดพื้นที่ในการวิ่ง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิถุยายนนี้
ขณะที่ ‘ทองอยู่ คงขันธ์’ ประธานสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ออกมาจ้อหน้าสื่อว่า ได้หารือกลับผู้ประกอบการรถ 30 เพื่อหามาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับผู้ขับเพิ่ม อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือผู้ประกอบโดยเฉพาะปัญหาขาดพนักงานขับรถ เพราะปัจจุบันภาคขนส่งโลจิสติกส์ขาดแคลนนับแสนอัตรา ‘ส่งผลให้บางครั้งผู้ประกอบการไม่สามารถเลือกคนขับรถตามมาตรฐานได้’ …ถามจริง แบบนี้ก็ได้เหรอ นี่คิดแล้วใช่มั้ย !&*%$##@^@%
พบกันใหม่ ฉบับหน้าขอรับ