ปัจจุบันจีนมีประชากรกว่า 1.412 พันล้านคน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตลาดบริโภคที่ใหญ่มากและผู้ประกอบการไทยเองก็ให้ความสำคัญกับตลาดนี้อย่างมาก ขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมเดลิเวอรีอาหารและเครื่องดื่มของจีนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีผลสืบเนื่องมาจากการระบาดของโรค COVID – 19 ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถออกไปข้างนอกได้สะดวกจึงหันมานิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์และบริการเดลิเวอรี่กันมากขึ้น
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลในปีค.ศ. 2021 ที่พบว่า จีนมีจำนวนผู้ใช้บริการเดลิเวอรี่ออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 29.83 ซึ่งการเติบโตของตลาดเดลิเวอรีของจีนก็ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย
ขณะที่สถานการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเดลิเวอรีของจีนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมานี้ซึ่งพบว่าอุตสาหกรรมเดลิเวอรีของจีนมีลักษณะเด่นที่สำคัญดังนี้
มอง 5 ปัจจัยที่ทำให้ตลาดเดลิเวอรีจีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
1. มูลค่าของตลาดเดลิเวอรีอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ. 2020 ตลาดอุตสาหกรรมเดลิเวอรีอาหารและเครื่องดื่มจีนมีมูลค่า 664,600 ล้านหยวน หรือประมาณ 3.52 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.00 (YoY) ขณะที่ในปี ค.ศ. 2021 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 811,700 ล้านหยวน หรือประมาณ 4.30 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.13 (YoY) และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2022 จะมีมูลค่า 941,740 ล้านหยวน หรือประมาณ 4.99 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท)
2. สัดส่วนรายได้ของการจำหน่ายอาหารเดลิเวอรีผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรีมีความสะดวก ประกอบกับการระบาดของโรค COVID – 19 ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาสั่งอาหารเดลิเวอรีมากขึ้น จึงทำให้สัดส่วนรายได้ของการจำหน่ายอาหารเดลิเวอรีออนไลน์ขยายตัวสูงขึ้น โดยในปีค.ศ. 2020 รายได้เดลิเวอรีทางออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.9 ของรายได้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของจีน ขณะที่ต่อมาในปี ค.ศ. 2021 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.4 โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2022 จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.6 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของจีน
3. จำนวนผู้ใช้บริการเดลิเวอรีเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเดลิเวอรีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่มีชีวิตที่เร่งรีบ และต้องการความรวดเร็วในการรับประทานอาหาร จึงทำให้ผู้ใช้บริการธุรกิจเดลิเวอรีขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าในปี ค.ศ. 2020 จีนมีจำนวนผู้ใช้บริการเดลิเวอรี 418.83 ล้านคน ขณะที่ต่อมาในปี ค.ศ. 2021 จีนมีจำนวนผู้ใช้บริการเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นเป็น 544.16 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 125 ล้านคน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยในจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.7 ของประชากรชาวเน็ตจีนทั้งหมด
4. ผู้บริโภคที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1990 – 1999 (พ.ศ. 2533 – 2542) คือ กลุ่มผู้บริโภคหลักของบริการเดลิเวอรี ซึ่งเป็นการสำรวจของบริษัท Meituan ผู้ให้บริการเดลิเวอรีชื่อดังของจีน ได้เปิดเผยว่า ผู้บริโภคที่เกิดระหว่างปีค.ศ. 1990 – 1999 (พ.ศ. 2533 – 2542) หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 23 – 32 ปี คือผู้บริโภคหลักของบริการเดลิเวอรี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด ขณะที่ผู้บริโภคที่มีความถี่ในการใช้บริการเดลิเวอรีมากที่สุด ได้แก่ ผู้บริโภคที่มีอายุ 18 – 25 ปี และผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 26 – 30 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.1 และร้อยละ 22.5 ตามลำดับ ส่วนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อแข็งแกร่งมากที่สุด คือผู้บริโภคอายุ 43 – 52 ปี และอายุระหว่าง 33 – 42 ปีซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคโดยเฉลี่ยประมาณ 30 หยวนขึ้นไป หรือประมาณ 159 บาทขึ้นไป ซึ่งสูงกว่าผู้บริโภคอายุระหว่าง 23 – 32 ปี
5. อุตสาหกรรมเดลิเวอรีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจกักตัว หรือ Isolation Economy ซึ่งเกิดจากการระบาดของโรค COVID – 19 (2) แนวคิด “ทุกอย่างส่งถึงบ้าน” หรือ Everything to Home และ (3) การจัดส่งไร้สัมผัส หรือ Contactless Distribution การเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมเดลิเวอรีของจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการคาดการณ์
เปิด 2 แนวโน้มสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเดลิเวอรีจีนในอนาคต
1.Lazy Economy หรือเศรษฐกิจของคนขี้เกียจจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเดลิเวอรีในอนาคต โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากสังคมจีนที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันมีความกดดัน เวลาในชีวิตประจำวันหมดไปกับการทำงาน ทำให้เวลาพักผ่อนได้ถูกงานประจำเบียดเบียนไป ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยหรือเฉื่อยชาได้ดังนั้น ผู้บริโภคจึงหันมาเลือกใช้บริการสั่งอาหารเดลิเวอรีที่มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 23 –32 ปี และผู้บริโภคอายุระหว่าง 13 – 22 ปี ที่กำลังเข้าสู่วัยทำงาน และเป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้บริโภคสองกลุ่มนี้มีความยินดีที่จะอยู่บ้านในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และใช้แพลตฟอร์มเดลิเวอรีในการตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของตนเอง เพราะมีความขี้เกียจที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน หลังจากที่ต้องออกจากบ้านถึง 5 วันต่อสัปดาห์แล้ว จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่า Lazy Economy หรือเศรษฐกิจของคนขี้เกียจจะทำให้มูลค่าของตลาดอุตสาหกรรมเดลิเวอรีขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น และก่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบของอุตสาหกรรมเดลิเวอรีในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเข้ามาตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
2.เทคโนโลยีการจัดส่งสมัยใหม่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเดลิเวอรี่มากขึ้น โดยในปัจจุบันเริ่มมีบริการรถจัดส่งไร้คนขับของบริษัท Meituan (เหม่ยถวน) Alibaba (อาลีบาบา) และ JD ออกให้บริการในตลาดจีนแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาและเพิ่มจำนวนการให้บริการในหลายพื้นที่มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Meituan กำลังสร้างเครือข่ายการจัดส่งสินค้าด้วยโดรนในเขตเมือง เพื่อลดภาระของพนักงานจัดส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการที่ตลาดเดลิเวอรี่ของจีนมีขนาดใหญ่ ทำให้ในอนาคตจะมีบริษัทจีนจำนวนมากให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดส่งสมัยใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมเดลิเวอรีของจีนให้ก้าวหน้า ทันสมัย และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง : https://baijiahao.baidu.com/s?id=1728929100724902375
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว