สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี รายงานความก้าวหน้าการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project list) ภายหลังได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) ได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ๆ ได้แก่
1. ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง เป็นตามขั้นตอนกฎหมาย ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการประมาณ 5,521 ไร่ งานมีความคืบหน้า 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว นอกจากนี้ การรื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง การส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาของรฟท. ที่เดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อเนื่องเช่นกัน และจะพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้
2. เริ่มแล้วงานก่อสร้าง ถนนสะพาน บ้านพักคนงาน โรงหล่อชิ้นส่วน ยันพร้อมเปิดบริการปี 2568
งานก่อสร้างโครงการ ฯ จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันบริษัท ฯ เอกชนคู่สัญญา ได้ดำเนินการออกแบบ และเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง (early work) เช่น ก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวสำหรับงานก่อสร้างโครงการ (access road and temporary bridge) ก่อสร้างสำนักงานสนาม (site office) บ้านพักคนงาน (labour camp) และก่อสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างทางวิ่ง (concrete yard) แล้ว โดยมีความพร้อมเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ทันที เมื่อได้รับมอบพื้นที่โครงการฯ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา จาก รฟท. โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4-5ปี และจะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568 ตามแผนเร่งรัด
3. ยกเครื่องแอร์พอร์ต ลิงก์ โฉมใหม่ คนใช้สะดวกขึ้น บริการทั่วถึงปลอดภัย
การส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ขณะนี้รฟท. พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งยืนยันว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ระหว่างการถ่ายโอนกิจการในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 นี้ โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร ยังสามารถใช้บัตรโดยสารรายเดือนเดิมของ รฟท.ได้ต่อไปหลังการถ่ายโอน และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยให้ผู้โดยสารเปลี่ยนบัตรโดยสารใหม่ต่อไป
ด้านความพร้อมของเอกชนคู่สัญญา ในช่วงก่อนการรับโอนสิทธิ์เพื่อเข้าดำเนินโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้ประกาศใช้งบประมาณสูงถึง 1.7 พันล้านบาท นำผู้เชี่ยวชาญการเดินรถและให้บริการระบบรางทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบอย่างละเอียด พร้อมทั้งสำรวจสภาพทางเทคนิคของสถานี ระบบรถไฟฟ้า เตรียมความพร้อมปรับปรุงสถานี พัฒนาด้านบุคลากรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพบริการ (Level of Service and Customer Satisfaction) ซึ่งได้เสนอมายัง รฟท. มีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้
1.) ปรับปรุงระบบไฟฟ้าที่จำเป็น เช่น ระบบติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถไฟฟ้า เพื่อให้ขบวนรถมาตรงเวลามากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิด รักษาความปลอดภัยผู้โดยสาร ระบบรางรถไฟฟ้า ระบบป้องกันอัคคีภัย และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น
2.) ปรับปรุงสถานีรถไฟ เช่น ป้ายสัญลักษณะและบอกทาง ปรับปรุงทางเดิน สิ่งอำนวยความสะดวกสถานีและเพิ่มห้องน้ำสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและปรับปรุงระบบการจราจร ที่จอดรถโดยรอบ เพิ่มระบบแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย เพิ่มพัดลมระบายอากาศ แผงกันสาดป้องกันแสงแดดและฝนภายในสถานี เพื่อสร้างความสะดวกสบายยิ่งขึ้น
3.) ปรับเปลี่ยนตู้ขนสัมภาระจำนวน 4 ตู้ ให้เป็นตู้รองรับผู้โดยสารแทน โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อชั่วโมง ลดการรอคอยขบวนรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วนที่เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน
สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ทุกขั้นตอนดำเนินการโปร่งใส รัดกุม และประเทศได้ประโยชน์สูงสุด มีมูลค่าการลงทุนรวม กว่า 257,464 ล้านบาท (ภาครัฐ 157,872 ล้านบาท และเอกชน 99,592 ล้านบาท) เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซี เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์สามารถเชื่อมต่อกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี และเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ