กรมเจ้าท่ายืนยัน เรือประมงขนาดเกิน 24 เมตร ที่ไม่มีแบบทั่วประเทศ มี 200 กว่าลำ พร้อมผ่อนปรน และให้คำแนะนำ ร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ให้เรือประมงมีแบบ ภายใน 3 เดือน เจ้าหน้าที่รีดไถ เจอโทษวินัยเด็ดขาด
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อออนไลน์ วันอังคารที่ 16 มิถุนายน 2563 กรณีประเด็น “ประมงพาณิชย์ แฉสนั่นทะเล “กรมเจ้าท่า” แสบ ออกกฎ ประกาศ กระทรวงเรียกค่าเขียนแบบเรือประมง 24 เมตรขึ้นไป คิดค่าใช้จ่าย ราว 3 หมื่น – 5 หมื่นบาท อ่วม ชี้หากไม่จ่ายต้องจบชีวิตประมง เผย 5 กรกฎาคม 2563 นี้กฎหมายบังคับใช้แล้ว” กรมเจ้าท่า จึงขอชี้แจงในการดำเนินการดังนี้
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ตามที่กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศกรมเจ้าท่าที่ 97/2563 เรื่อง ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การต่อสร้างหรือดัดแปลงเรือที่มีความยาวตลอดลำตั้งแต่ 24 เมตรขึ้นไปโดยเคร่งครัด นั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เรือทุกลำที่มีความยาวตลอดลำเรือตั้งแต่ 24 เมตร ขึ้นไป ต้องมีแบบแปลนเรือ ที่ได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่า ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ เพื่อความปลอดภัย ตลอดจนเพื่อใช้ในการกู้เรือ และให้ความช่วยเหลือ จึงจำเป็นต้องบังคับให้มีการเข้มงวด กวดขัน ให้มีแบบเรือไว้ที่เรือ เจ้าของเรือ และที่กรมเจ้าท่า
กรณีตามข่าวที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ว่ากรมเจ้าท่าได้มีการเรียกรับเงินค่าเขียนแบบแปลน ตามข่าวนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการเขียนแบบแปลนเรือ เป็นหน้าที่ของเจ้าของเรือต้องไปดำเนินการเอง โดยให้วิศวกรต่อเรือของเอกชน หรือบริษัท เป็นผู้เขียนแบบให้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่า และไม่มีการเรียกรับเงินตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
กรมเจ้าท่า ได้ตรวจสอบข้อมูลเรือประมงทั่วประเทศแล้ว พบว่า เรือประมงที่มีขนาดตัวเรือความยาวตลอดลำเกิน 24 เมตรขึ้นไป มีจำนวน 209 ลำ ที่ยังไม่มีแบบแปลนเรือ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องเขียนแบบแปลนเรือ ทั้งนี้ อธิบดีกรมเจ้าท่าได้หารือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยในเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้สั่งการให้ สำนักมาตรฐานเรือ หาแนวทางช่วยเหลือ และดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน
“นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย พอใจในการแก้ปัญหาของกรมเจ้าท่า ดังกล่าว และกล่าวขอบคุณกรมเจ้าท่าที่อยู่เคียงข้างชาวประมง และช่วยเหลือชาวประมงอย่างจริงใจ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมเจ้าท่า มีนโยบายและเล็งเห็นความสำคัญ ให้เจ้าของเรือต้องมีแบบแบบแปลนในการต่อสร้างเรือ ไว้บนเรือเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบในระหว่างการต่อทะเบียนเรือ จดทะเบียนเรือ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยเหลือกู้ภัย กรณีเรือเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการเตรียมความพร้อมในด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ ได้กำชับ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ห้ามเรียกรับผลประโยชน์จากการเขียนแบบแปลนเรือ หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด
: มุมมืด