บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ขับเคลื่อนโครงการ Metroplex ปรับปรุงเส้นทางบินและออกแบบห้วงอากาศใหม่ เชื่อมต่อ 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง – อู่ตะเภา
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการออกแบบและพัฒนาห้วงอากาศสำหรับสนามบินที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศ หรือ Metroplex โดยระยะแรกได้วางแผนปรับปรุงเส้นทางบินและห้วงอากาศ เชื่อมต่อ 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง – อู่ตะเภา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ร่วมกันทั้ง 3 สนามบิน รวมทั้งเป็นการพัฒนาห้วงอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน และการใช้งานห้วงอากาศรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า จากปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงคมนาคมเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเตรียมพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบิน และผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต บวท. ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศได้ดำเนินโครงการออกแบบและพัฒนาห้วงอากาศสำหรับสนามบินที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศ หรือ Metroplex โดยในระยะแรกได้วางแผนการปรับปรุงเส้นทางบินและห้วงอากาศ รองรับการคมนาคมขนส่งทางอากาศ เชื่อมต่อ 3 สนามบิน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา การออกแบบห้วงอากาศใหม่มีการคำนวณเส้นทางบินที่เหมาะสมสำหรับเครื่องบินที่เข้ามาลง เพื่อให้การบินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้เชื้อเพลิง รวมทั้งช่วยลดจุดตัดทางการบิน และในอนาคตจะดำเนินการปรับปรุงเส้นทางบินและห้วงอากาศ รองรับการคมนาคมขนส่งทางอากาศ เชื่อมต่อ 3 สนามบินภูมิภาค ได้แก่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในแถบภาคใต้ตอนล่าง ตลอดจนการวางแผนขยายผลการปรับปรุงให้กับท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานลำปาง และท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในแถบภาคเหนือตอนบน
บวท. ได้ดำเนินการควบคู่ไปกับระบบห้วงอากาศที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ การพัฒนาด้านระบบอุปกรณ์ให้เพียงพอ ให้สามารถรองรับการใช้งาน พร้อมพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการทำงาน และรองรับการเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการปรับปรุงเส้นทางบินและการออกแบบห้วงอากาศนี้จะส่งผลดี สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศชาติต่อไป