สืบเนื่องจากโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวสายทาง และรูปแบบทางขึ้น-ลงที่เหมาะสมของโครงการ) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เพื่อแนะนำประชาสัมพันธ์โครงการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงแนวเส้นทางโครงการเกี่ยวกับผลการคัดเลือกแนวสายทาง และรูปแบบทางขึ้น-ลงทางพิเศษบูรพาวิถีที่จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณถนนบ้านเก่า และรูปแบบทางขึ้น-ลงทางพิเศษบูรพาวิถีที่จุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี
ล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี
นายวิชาญ เอกรินทรากุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ (ด้านการบริหาร) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด และ บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้นำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมและการออกแบบเบื้องต้นของโครงการ ผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างและดำเนินโครงการ รวมทั้งมาตรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ
ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้มีส่วนได้เสียมีความเข้าใจและมั่นใจต่อโครงการ และมาตรการในการจัดการกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกรณีมีการพัฒนาโครงการ รวมทั้งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาของโครงการ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาโครงการให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาต่อไป
“งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี จะช่วยลดการตัดกระแสจราจรบริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายถนนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ให้สามารถรองรับปริมาณจราจรได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งระบบอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป”