กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมกับการพัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นก้าวแรกในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำเพื่อรองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น นวัตกรรมเรือไฟฟ้าเป็นการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เรือโดยสารมีส่วนช่วยลดมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อประชาชนจะได้รับความสะดวกสบาย และได้รับความปลอดภัยในการโดยสารเรือ
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่ามีการดำเนินงานพัฒนายานพาหนะด้วยพลังงานไฟฟ้า ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้กับตัวเรือและท่าเรือ ให้เกิดเป็นท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Pier สำหรับในปี 2564 นี้ความก้าวหน้าที่กรมเจ้าท่า ได้การดำเนินการที่ผ่านมา ได้แก่ การพัฒนามาตรฐานและข้อกำหนดเกี่ยวกับเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า – ออกข้อกำหนดมาตรฐานเรือพลังงานไฟฟ้า การพัฒนาข้อกำหนดสำหรับเรือไฟฟ้าสำหรับเรือเพลาใบจักรยาว
อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาการศึกษาและวิจัยนวัตกรรมเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าร่วมกับคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โครงการจัดหาระบบเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบ ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้นำเรือพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ รวม 5 เส้นทาง ได้แก่
1.เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา
กรมเจ้าท่าร่วมกับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้เรือขนาดความยาว 23.97 เมตร รองรับคนโดยสารได้จำนวน 250 คน ใช้แบตเตอรี่ขนาด768 Kw.hr สามารถทำความเร็วได้ 16 นอต (29.6 กม./ชม.) ซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้าสามารถทดแทนการใช้น้ำมันได้จำนวน 262,800 ลิตร/ปี
2. เส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม
กรมเจ้าท่า ร่วมกับ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด พัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า เพื่อใช้ในการเดินเรือในเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม โดยตลอดเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษมมีระยะทาง 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 เขตได้แก่ เขตพระนคร เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตปทุมวัน ใช้เวลาเดินทางตลอดสายเพียง 20 นาที โดยใช้เรือจำนวน 7 ลำ ขนาดความยาว 9.90 เมตร รองรับคนโดยสารได้ 30 คน ใช้แบตเตอรี่ขนาด 42 Kw.hr.สามารถทำความเร็วได้ 7 นอต (12.96 กม./ชม.) ซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้าสามารถทดแทนการใช้น้ำมันได้จำนวน 40,420.20 ลิตร/ปี
3. เส้นทางคลองแสนแสบ
– บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ได้ต่อเรือเหล็กจำนวน 5 ลำ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (ยังมีข้อจำกัดในเรื่องประสิทธิภาพของแบตเตอรี่)
– กรุงเทพมหานคร ได้ต่อเรือไฟฟ้า จำนวน 12 ลำ เพื่อจะนำมาให้บริการเดินเรือในเส้นทางคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย (วัดศรีบุญเรือง-มีนบุรี) ระยะทางประมาณ 11.5 กิโลเมตร โดยเรือรองรับคนโดยสารได้ 40 คน โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ร่วมกับโซล่าร์เซล คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน เดือนมิถุนายน 2564 และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกันยายน 2564
4. เส้นทางคลองดำเนินสะดวก
กรมเจ้าท่าได้พัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเส้นทางคลองดำเนินสะดวกจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีเรือจำนวน 2 ลำ ติดตั้งระบบมอเตอร์ไฟฟ้าทดแทนเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันสำหรับเรือเพลาใบจักรยาว (หางยาว) ปัจจุบัน ให้บริการเดินเรือท่องเที่ยวคลองดำเนินสะดวกเรียบร้อยแล้ว พร้อมนี้ได้ร่วมกับบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด พัฒนาเรือเพลาใบจักรยาววัสดุตัวเรือทำจากอลูมิเนียมอัลลอยด์ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า จำนวน 1 ลำ ซึ่งได้ต่อเรือและทดสอบเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างส่งมอบเรือให้กรมเจ้าท่า
5. เส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวทางทะเล
กรมเจ้าท่า ร่วมกับ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด พัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า Banpu NEXT e-Ferry “เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเล” จำนวน 1 ลำ ปัจจุบัน เรือได้ย้ายจากอ่าวพังงา มาให้บริการในจังหวัดนครศรีธรรมราช (ท่าเรือสิชลซีฟู้ด) ออกให้บริการล่องเรือรับประทานอาหาร วันละ 1 เที่ยว ระหว่างท่าเรือสิชล-เขาพลายดำ ช่วงเวลา 14.00 น.-17.00 น ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 40-50 คน/วัน (หยุดการให้บริการชั่วคราวเนื่องจาก COVID-19)
ทั้งนี้ โครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าถือเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานภาคเอกชน ในการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งที่เล็งเห็นความสำคัญในการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น ให้สอดรับกับแผนการพัฒนาประเทศ ลดปัญหาการจราจรทางบก ลดมลภาวะ และเพื่อความสะดวกสบายของประชาชน ด้วยการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบทั้งระบบ รถ-ราง-เรือ ให้เกิดการขับเคลื่อน สนับสนุน ส่งเสริมนำเรือพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในระบบการคมนาคมขนส่งทางน้ำอย่างเต็มรูปแบบและเป็นรูปธรรมต่อไป