โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) นับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้ง 3 จังหวัดอันประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง ไปสู่ความสำเร็จ ที่ผ่านมา EEC มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางบก ทางราง ทางน้ำ แบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันจากการลดเวลาการเดินและประหยัดค่าขนส่ง
สำหรับกลุ่มโครงการที่สำคัญ 2 กลุ่ม คือ 1.เชื่อมโยง EEC กับภูมิภาคทางอากาศ ผ่านโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอากาศยานและโลจิสติกส์ทางอากาศ และเชื่อมโยงการเดินของผู้โดยสารสนามบินหลัก (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้การเดินทางระหว่าง กทมฯ กับ EEC ไม่เกิน 1 ชม.
2.เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าของประเทศไทยกับภูมิภาค โดยพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมโยงจีน ลาว ไทย กัมพูชา และระบบขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ และระบบขนส่งแบบอัตโนมัติ ผ่านศูนย์กระจายสินค้าใหม่ที่ฉะเชิงเทรา ไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะ3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 และส่งเสริม EEC ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกโดนการพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Port) ที่ท่าเรือพาณิย์สัตหีบ
ทั้งนี้มาทำความรู้จักกับ 5 โครงการพื้นฐานหลัก EEC รากฐานที่สำคัญและแข็งแกร่งในการปั้น EEC ให้มีศักยภาพแข่งขันได้ในระดับสากล
1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กม.
ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา) และความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมือง ถึง สถานีสุวรรณภูมิ) ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา
2. โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
โครงการนี้อนุญาตให้เอกชนเข้าร่วมทุนในการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ตั้งโครงการอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และพื้นที่โดยรอบประมาณ 6,500 ไร่ ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านฉาง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดระยอง
3. โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
เพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ สำหรับจอดเรือน้ำลึก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอานวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อ เนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอและพร้อมที่จะรองรับการขยาย ตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ โดยที่ตั้งโครงการ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
4. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3
เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่หน้าท่าเรือ 550 ไร่ และพื้นที่หลังท่าเรือ 450 ไร่ ความยาวหน้าท่าเรือรวมกัน 2,229 เมตร
5. โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา
ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานบนพื้นที่ 210 ไร่แห่งนี้ จะได้รับการพัฒนาให้เป็นหนึ่งในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัย รองรับเทคโนโลยีขั้นสูงของอากาศยานรุ่นใหม่ทุกรุ่น ทุกขนาดในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยพร้อมให้บริการในหลากหลายด้าน ตั้งแต่การซ่อมบำรุงระดับลานจอด เรื่อยไปจนถึงซ่อมบำรุงใหญ่สำหรับอากาศยานในหลากหลายประเภท โดยจะนำเทคโนโลยีล่าสุดและการตรวจสอบขั้นสูงมาใช้ในการวิเคราะห์และพยากรณ์เพื่อกำหนดแผนการบำรุงรักษาอากาศยานล่วงหน้า นอกจากนี้ยังมีโรงซ่อมบำรุงอัจฉริยะ ที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน รวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงที่ผลิตช่างฝีมือ และนายช่างอากาศยาน ตามมาตรฐานระดับสากล รองรับการขยายตัวของธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานทุกภูมิภาคของโลกต่อไปในอนาคต
แม้ภาพเหล่านี้จะเป็นเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ของรัฐ แต่สำหรับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอาจยังไม่สนใจเรื่องเหล่านี้มากเท่าที่ควร แต่ก็สามารถศึกษาเรื่องเหล่านี้เพื่อคาดการณ์โอกาสท่ามกลางการเกิดขึ้นของเมกะโปรเจกต์ของรัฐในแง่มุมต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น 9 สถานีรถไฟควาเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อูตะเภา-สุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งคาดว่า ทั้ง 9 สถานีจะเกิดเป็นโอกาสจากการเติบโตของเมืองและความสะดวกในการเดินทาง เกิดศูนย์การค้า ย่านธุรกิจ และสถานบันเทิงมากมาย ไว้โอกาสหน้าจะนำข้อมูลทั้ง 9 สถานีนี้มาวิเคราะห์กันแบบเจาะลึก ดูว่ามีแนวโน้มที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง
อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)