แม้ภาคธุรกิจขนส่งทางถนนด้วยรถขนาดใหญ่ หรือรถบรรทุก คือภาคธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ที่บริหารจัดการด้านการขนส่งสินค้าจากต้นทางสู่ปลายทางกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาทุกยุคทุกสมัย
ขณะที่อีกบริบทหนึ่ง “รถบรรทุก”ยังตกเป็นแพะรับบาปสังคมอยู่เสมอ ทั้งในแง่มุมต้นตอการเกิดอุบัติเหตุ ปัญหารถติด และปัญหามลภาวะ ไม่แปลกอะไรที่ภาครัฐจะงัดสารพัดมาตรการพร้อมประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างเข้มงวดกับรถบรรทุกหวังลดปัญหาดังกล่าว
แม้จะพอเข้าใจได้ถึงแนวคิดและเป้าประสงค์การบังคับใช้กฎหมาย ทว่า ในมุมคิดผู้ประกอบการขนส่ง/คนขับรถบรรทุกกลับมองว่าพวกเขาไม่ใช่ต้นตอของปัญหาแต่ฝ่ายเดียว ภาครัฐซะเองที่กลับแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพียงเพราะคิดว่า “พวกเขาเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่”
Trans Time ขอใช้พื้นที่นี้ผ่า 3 ปมปัญหาที่ชวนขย่มหัวอกสิงห์รถบรรทุกไปเต็มเปา พร้อมเป็นกระจกบานใหญ่สะท้อนว่าแท้จริงแล้วพวกเขาคือต้นตอปัญหาต่างๆมากน้อยเพียงใด?
ล็อคเวลาวิ่งสิบล้อในกทม.-ปริมณฑล
เบิกร่องปมแรกกับไอเดียสุดล้ำเลิศล็อคเวลาวิ่งรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปเข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งหวังโชว์ผลงานชิ้นโบว์แดง นับตั้งแต่วันแรกที่ย่างกายเข้ากระทรวงฯ
โดยจะอนุญาตให้วิ่งได้เฉพาะเวลา 00.00-04.00 น. เพียงเท่านั้น จากเดิมวิ่งได้ตั้งแต่ 10.00-15.00 น.และจาก 21.00-05.00 น.หวังพุ่งชนเป้าหมายลดปัญหารถติด-มลภาวะในพื้นชั้นในใจกลางเมืองหลวง พร้อมโยนเผือกร้อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อดี-ข้อเสียแล้วรายงานให้ทราบภายใน 1 เดือน
แม้พลพรรคสิบล้อจะดาหน้าออกมาคัดค้านแหลกและวิพากษ์วิจารณ์หนักถึงแนวคิดดังกล่าว พร้อมทิ้งบอมบ์ข้อคิดเห็นสะท้อนความรู้สึกจากหัวอกคนสิบล้อฝากเป็นข้อกังขา-การบ้านให้รมว.คมนาคมได้ฉุกคิดกับนโยบายเจ้ากรรม “เป็นนโยบายสิ้นคิด?, เกาไม่ถูกที่คัน?, ทำยังกะว่าสิบล้อเป็นต้นตอปัญหารถติด?,เอะอะอะไรก็สิบล้อ?,สิบล้อคือแพะรับบาป?” เป็นต้น พร้อมขู่หากไม่สนใจการคัดค้านจะปรับขึ้นค่าขนส่ง 40-50 %
ทว่า เสนาบดีคมนาคมไฟแรงก็ยัง NO สน NO Care ใครหน้าไหน? จากวันนั้นถึงวันนี้ก็กินเวลากว่า 5 เดือน พลพรรคสิบล้อยังต้องลุ้นตัวโก่งว่าเจ้ากระทรวงหูกวางจะประกาศเปรี้ยงบังคับใช้วันใด?
ล่าสุด (8 ธ.ค.62)รมว.คมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เปิดเผยถึงความคืบหน้าจากนโยบายสุดบรรเจิดดังกล่าวว่าเรื่องนี้สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้ทบทวนหรือชะลอนโยบายดังกล่าว โดยเสนอว่าปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยและรถบรรทุกเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากในแต่ละวันมีรถบรรทุกวิ่งเข้า – ออกพื้นที่กรุงเทพฯเฉพาะช่วงเวลาเพียงวันละ 12 ชม.เท่านั้น ดังนั้น การขยายระยะเวลาห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุแต่จะมีผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์และระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง การขนส่งจะต้องเชื่อมต่อกันทุกระบบจะเกิดปัญหาลูกโซ่ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ผลกระทบต่อการพักผ่อนเวลากลางคืนของชาวกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ รมว.คมนาคม ยังย้ำว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับข้อเรียกร้องดังกล่าวไปพิจารณา โดยกำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ให้ชัดเจนภายใน 1 เดือน ซึ่งมาตรการทั้งหมดต้องตอบโจทย์เรื่องการจราจร ต้นทุนการก่อสร้าง และให้พิจารณาข้อกฎหมายของ กทม. ประกอบด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก และผลกระทบต่อภาคเอกชนโดยให้พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาต่อไป
ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วเจ้ากระทรวงหูกวาง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ณ แดนบุรีรัมย์ต้นคิดไอเดียสุดบรรเจิดนี้จะยอมถอยหรือไม่?หรือเลือกลุยไฟต่อสุดลิ่มตามแบบฉบับ “คนพันธุ์บุรีรัมย์”ผู้มั่นใจเต็มประดา พลพรรคสิบล้อปูเสื่อรอลุ้นตัวโก่งตัวต่อไป
ห้ามสิบล้อจอดรถกินเลนบนไหล่ทาง
ปมถัดมาก็หนักหนาไม่แพ้กันเพราะขนส่งฯเข้มงวดห้ามรถบรรทุกจอดรถกินเลนบนไหล่ทางหวังล้อมคอกปัญหาอุบัติเหตุ หากฝ่าฝืนปรับ 5,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ขู่หากผิดซ้ำซากจะแก้กฎหมายเพิ่มโทษหนัก รุกพัฒนาระบบจีพีเอสเช็กพิกัดสิบล้อจอดไหล่ทางอีกด้วย
โดยอธิบดีกรมการขนส่งทางบก“จิรุตม์ วิศาลจิตร”ออกมาระบุว่ากรมฯไม่ต้องการให้จอดรถบนไหล่ทางเพราะส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัย ในการใช้ทางเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรถชนท้ายได้ง่าย ทำให้เส้นทางไม่สะอาดและไม่เป็นระเบียบ บางครั้งผู้จอดรถไหล่ทางนำอาหารมารับประทาน แล้วทิ้งขยะไม่เป็นที่รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดด้วย
โดยกรมฯได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง (ทล.) ตำรวจทางหลวง และตำรวจจราจร ช่วยกันรณรงค์เรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขและลดจำนวนรถจอดบนไหล่ทางให้น้อยลง แต่ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้
“กรมฯ จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการรถบรรทุก ห้ามให้พนักงานขับรถบรรทุกจอดบนไหล่ทางเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจอดรถบรรทุกบนไหล่ทางจะถือว่ากระทำผิด พ.ร.บ.ทางหลวง มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวยังถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงพอสมควรแต่อนาคตหากมองว่าบทลงโทษการเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 5,000 บาทยังน้อยเกินไป อาจทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวอาจจะมีการปรับเพิ่มโทษในการปรับได้ แต่ต้องหารือกับตำรวจ ทล. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดอัตราโทษปรับที่เหมาะสมต่อไปกรณีปรับแก้กฎหมาย”
ทั้งนี้ หลังมีข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุรถทุกประเภท ที่จอดบนไหล่ทางของกรมทางหลวง (ทล.) ตั้งแต่ ตุลาคม 61 ถึง พฤษภาคม 62 พบว่าเกิดอุบัติเหตุ 1,289 ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 160 ครั้ง ทำให้กรมฯออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาโดยการห้ามจอดรถไหล่ทาง แต่ที่ผ่านมายังมีผู้ฝ่าฝืนบ้าง
พลันที่เป็นตีแผ่ในโลกข่าวสารออนไลน์ก็กลายเป็นประเด็นร้อนพลางกวักมือเรียกพลพรรคสิบล้อกระทืบคอมเม้นต์สุดเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ จับสาระใจความละมุนหูและสุภาพชนพอนำเสนอได้ “แล้วจะให้พวกเขาไปจอดที่ไหนล่ะ? ลำพังทุกวันนี้ขับไปครบ 4 ชม.ก็ต้องจอดพักตามกม.ก็ยังหาที่จอดไม่ได้ ไปหลบจอดในปั้มก็มิวายโดนขับไล่ ครั้นหนีไปจอดตามจุดพักรถของทางหลวง-ทางหลวงชนบทก็มีเพียงหยิบมือ
หากจะบังคับกันจริงจังไม่ลัดลาวาศอกแล้วล่ะก็ ขอความกรุณาหน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยสร้างจอดให้เพียงก่อนดีมั้ย?ก่อนที่จะร่อนหนังสือไล่บี้ห้ามพวกเขาจอดไหล่ทางพร้อมเอาผิดตามกม.อะไรพันธุ์นั้นน่ะ?
สิบล้อ…เตรียมควักกระเป๋าเพิ่ม!
ปิดท้ายกับปมการกำหนดให้รถบรรทุกต้องติดตั้ง “อุปกรณ์ตรวจสอบน้ำหนักบรรทุก”ที่ตัวรถ ซึ่งเวลาอยู่ในขั้นตอนการศึกษาของกรมการขนส่งทางบก คาดการณ์ว่าหากประกาศบังคับใช้ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนส่ง เพราะนั่นหมายความว่าต้องควักกระเป๋าเพิ่ม ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและเป็นภาระของผู้ประกอบการอีกต่างหาก
เรื่องนี้ทางรมว.คมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ได้สั่งการให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก“จิรุตม์ วิศาลจิตร”ไปศึกษาการกำหนดให้รถบรรทุกต้องติดตั้ง “อุปกรณ์ตรวจสอบน้ำหนักบรรทุก”ที่ตัวรถด้วย เพราะการนำตาชั่งไปไล่ตรวจไม่สามารถจับกุมได้หมด
ทั้งนี้ กรมฯอ้างเพื่อแก้ไขปัญหาบรรทุกเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด ส่งผลเสียโดยตรงต่อสภาพถนนหนทางที่พังเสียหายทั่วประเทศ ที่ปีหนึ่งๆภาครัฐต้องเทงบประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาทเพื่อนำไปซ่อมบำรุงถนนพัง
กับเหตุผลที่กรมฯยกเมฆมาเพื่อปลดแอกปัญหาการบรรทุกเกินพิกัดกม.แถมแถไปโทษการนำตาชั่งไปไล่ตรวจไม่สามารถจับกุมได้หมด แปลไทยเป็นไทย ภาครัฐไม่มีปัญญาแก้ปัญหาแล้วว่างั้น! ถึงได้ผลักภาระใหักับผู้ประกอบการขนส่ง?
ไม่รู้ว่าจะเป็นเหตุผลฟังขึ้นหรือไม่? ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจล่ะกัน!
ลำพังทุกวันนี้บรรดาอาเฮีย-อาซ้อสิบล้อแทบจะหายใจทางรูขุมขนกันแล้ว เพราะต้องถูกรุมเร้าด้วยข้อกฎหมาย/ระเบียบข้อบังคับรอบด้าน ไหนจะลงทุนควักกระเป๋าเพิ่มค่าติดตั้ง GPS ตามกม.บังคับ ไหนจะค่าบริการรายเดือนก็ปวดหัวพออยู่แล้ว
นี่ภาครัฐเตรียมจะบีบบังคับให้ติดตั้ง “อุปกรณ์ตรวจสอบน้ำหนักบรรทุก”ที่ตัวรถอีกด้วย บวกภาระค่าใช้จ่ายอีกบานตะไทในสามโลกเลยทีเดียว เมื่อไล่เรียงค่าใช้จ่ายจิปาถะแล้วก็น่าเห็นใจแทนสิบล้อเช่นกัน ใครไม่ได้อยู่ในแวดวงขนส่งด้วยรถบรรทุกก็ยากจะเข้าใจดีถึงหัวอกพวกเขา
กับ 3 ปมขย่มหัวอกสิบล้อจนจุกนี้ ก็ไม่ทราบเช่นกันว่ากระทรวงคมนาคม-กรมการขนส่งทางบกเป็นคู่เวรคู่กรรมกับสิบล้อมาตั้งแต่ชาติปางไหน เพราะดันไปแตะนโยบายที่มะรุมมะตุ้มกับสิบล้อซะขนาดนั้น
แม้รัฐจะอ้างเพื่อแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ การจราจรติดขัด และมลภาวะโดยมี “ต้นแบบ”การบริหารจัดการและเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่เขาเจริญรุดหน้าไปกว่าประเทศไทยหลายก้าวก็ตาม ทว่า รัฐเองก็อย่าลืมคำนึงถึงบริบทความพรั่งพร้อมองค์รวมของประเทศ
ดังนั้น ภาครัฐต้องขบคิดให้รอบคอบและรอบด้านก่อนประกาศบังคับใช้ มิเช่นนั้น…มันจะเข้าทำนอง “เอวัง”ก็พังด้วยประการทั้งปวงฉะนี้!