ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 8 ปี พ.ศ.2558-2565 ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สามารถขับเคลื่อนการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ให้เกิดการก่อสร้างได้แล้วหลายเส้นทาง โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สู่ภาคตะวันออก เชื่อมต่อไปยังโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างเป็นไปได้ด้วยดี และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ตลอดเส้นทาง ภายในกรอบเวลาที่กำหนดเดือนกันยายน 2562 นี้
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย งบประมาณการก่อสร้าง 9,825 ล้านบาท ระยะทางก่อสร้างทาง 97 กิโลเมตร พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ชุมทางแก่งคอย และชุมทางบ้านภาชี ขณะนี้มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างไปแล้ว 94.74% และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2562
ส่วนสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ งบประมาณการก่อสร้าง 407 ล้านบาท ระยะทางรวม 9 กิโลเมตร ซึ่งมีการก่อสร้างอุโมงค์และทางลอดใต้เขาพระพุทธฉาย 1.2 กิโลเมตร ขณะนี้ก่อสร้างได้เสร็จแล้ว 100%
อย่างไรก็ตาม เมื่อการดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย เสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ และเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางราง เช่น น้ำมัน ก๊าซแอลพีจี ปูนซีเมนต์ สินค้าบรรจุคอนเทนเนอร์ ระหว่างพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและท่าเรือแหลมฉบังกับพื้นที่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างประหยัดต้นทุน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาสู่ระบบราง และลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
นายวรวุฒิ กล่าวยังถึงการสรรหาเพื่อบรรจุพนักงานในปี 2562 ว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ ครั้งล่าสุด ได้มีมติอนุมัติการสรรหาเพื่อบรรจุพนักงานในปี 2562 ในอัตรา 1,330 คน หรือเท่าที่จำเป็นก่อน เพื่อไม่เป็นภาระด้านงบประมาณ โดยเป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 20 พ.ย. 2561 ที่เห็นชอบให้การรถไฟฯ รับพนักงานในปีแรก ภายในกรอบไม่เกิน 1,904 อัตรา
ด้าน นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่ สร.รฟท. ได้ติดตามเร่งรัด ผลักดันในเรื่องการขอเพิ่มอัตรากำลังพนักงานการรถไฟฯ โดยให้มีการยกเว้นมาตรการด้านบุคลากรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 ที่ให้การรถไฟฯ งดรับพนักงานใหม่ ยกเว้นตำแหน่งที่เกี่ยวกับการเดินรถและตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิพิเศษ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว ทั้งนี้จะรับพนักงานใหม่ได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุนั้น ซึ่ง สร.รฟท.ได้ดำเนินการติดตามกับผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอร์ดรถไฟฯ และในที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟฯ
และยังมีการยื่นหนังสือขอเร่งรัดการเพิ่มอัตรากำลังพนักงานการรถไฟฯ ต่อนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เนื่องจากการขาดแคลนอัตรากำลัง ทำให้พนักงานต้องทำงานตรากตรำเพิ่มมากขึ้น ไม่มีเวลาพักผ่อนต้องทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุด เป็นเหตุให้การรถไฟฯ มีค่าภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร (ค่าทำงานวันหยุด ค่าล่วงเวลา และค่าตอบแทนการทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติ) อีกทั้งจ้างลูกจ้างเฉพาะงานมาทำงานรับผิดชอบในภารกิจของพนักงานบางตำแหน่งที่ไม่สามารถรับพนักงานเพิ่มได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การรถไฟฯ ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 โดยให้สามารถรับพนักงานเพิ่มได้เฉพาะในปีแรกของกรอบอัตรากำลัง (ปี 2562) จำนวนไม่เกิน 1,904 อัตรา แล้วให้การรถไฟฯ นำกรอบอัตรากำลังตามแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟฯ ทำแผนการสรรหาในระยะ 10 ปี ให้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป
โดยการสรรหาพนักงานใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น สร.รฟท.ได้มีข้อเสนอให้มีการบรรจุพนักงานโดยการสรรหาจากกลุ่มลูกจ้างเฉพาะงานก่อน เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในวิชาชีพ และเป็นขวัญกำลังใจให้กับลูกจ้างเฉพาะงานเนื่องจากทำงานให้กับองค์กรมาเป็นเวลานาน ประกอบกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ในการรับพนักงานต้องเป็นพนักงานด้านปฏิบัติการ ซึ่งล่าสุดทาง สร.รฟท.ได้ทราบข้อมูลจากการที่ฝ่ายบริหารของการรถไฟฯให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยเปิดเผยว่าทาง บอร์ดรถไฟฯ ได้มีมติอนุมัติการสรรหาเพื่อบรรจุพนักงานในปี 2562 ในอัตรา 1,330 อัตรา หรือเท่าที่จำเป็นก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณ
…ฟันเหล็ก