กรมทางหลวง จัดสัมมนาผู้บริหารทั่วประเทศ กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนกรมทางหลวงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ของกระทรวงคมนาคม
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า การสัมมนาผู้บริหารกรมทางหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เรื่อง “กรมทางหลวงกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ให้ผู้บริหารกรมทางหลวงทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 385 คน ครั้งนี้ เป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการบริหารตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงกรอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม ยุทธศาสตร์ของกรมทางหลวง มุ่งเน้นประเด็นสำคัญในการพัฒนาองค์กร เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเหมาะสมเกิดความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ สามารถบริหารจัดการทรัพยากรและเทคโนโลยีด้านต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ มีศักยภาพสนับสนุนการดำเนินงานในบริบทต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ดังนั้น จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่สำคัญสำหรับผู้บริหารในการถ่ายทอดเป้าหมายและกำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติงานในทุกระดับขององค์กรให้มีความถูกต้องชัดเจน สร้างความร่วมมือและพัฒนาประสิทธิผลของงานได้ตามเป้าหมายภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดขององค์กร
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อไปอีกว่า นโยบายกรมทางหลวง ปี 2562 กรมทางหลวงจะมุ่งเน้นนโยบายหลัก 5 ด้าน คือ นโยบายด้านที่ 1 พัฒนาโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ภาคการขนส่ง นโยบายด้านที่ 2 พัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) นโยบายด้านที่ 3 พัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพทางหลวง นโยบายด้านที่ 4 พัฒนาและดูแลรักษาทางหลวงให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล และนโยบายด้านที่ 5 ปรับปรุงการบริหารจัดการองค์การ พัฒนาบุคลากรตอบสนองสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance)
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าจะมีการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองให้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจาก 3 เส้นทางแล้ว ยังจะดำเนินการต่อไป เช่น สายนครปฐม-ชะอำ สายบางบัวทอง-บางปะอิน สายบางขุนเทียน – เอกชัย ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการบริการประชาชนหลังจากทางหลวงพิเศษต่างๆ เปิดใช้บริการให้มีความสะดวกมากที่สุด เช่น การใช้ระบบตั๋วร่วมกับรูปแบบการขนส่งอื่นๆ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อบูรณาการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดัน พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ให้เป็นเขตศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมในอนาคตและเป็นที่ตั้งของสำนักงานระดับภูมิภาคของบริษัทชั้นนำของโลก เป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน การขนส่ง และเพื่อยกระดับประเทศไทย สู่หัวใจของการเป็นศูนย์กลางของเขตเศรษฐกิจเอเชีย
และอีกภารกิจที่สำคัญคือ การพัฒนาทางหลวงเพื่อขยายระบบการคมนาคมและโลจิสติกส์ อย่างเต็มรูปแบบ ครบวงจร ตลอดจนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community: AEC)
….นายสะพานโค้ง