“สุริยะ” เผยฝุ่น PM2.5 ลดลงต่อเนื่อง หลังงัดใช้แผนเร่งด่วน ระบุมาตรการใช้รถไฟฟ้า – รถเมล์ฟรี 7 วัน พบรถยนต์ส่วนบุคคลลดลง 10% หนุนประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มตอกย้ำมาตรการ 20 บ. ตลอดสาย ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มชัวร์ พร้อมเคาะงบชดเชย 190 ล้านบาท มั่นใจประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการดำเนินการนโยบายให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทางสาธารณะ (รถเมล์) ฟรี รวมระยะเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 เพื่อต้องการให้ปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
ทั้งนี้ ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รายงานข้อมูลจากการเก็บสถิติพบว่า โดยปกติแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีปริมาณรถยนต์ ประมาณ 10 ล้านคัน โดยเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ประมาณ 5 ล้านคัน ซึ่งภายหลังจากการดำเนินการมาตรการดังกล่าวส่งผลให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลงประมาณ 10% (ประมาณ 500,000 คัน) ประกอบกับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 หรือก่อนที่จะเริ่มให้ประชาชนได้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะฟรี
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าของวันที่ 27 มกราคม 2568 อยู่ที่ 2,172,345 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 23.65% จากวันที่ 24 มกราคม 2568 ที่มีผู้ใช้บริการรวม 1,756,772 คน-เที่ยว ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการให้บริการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณที่มีผู้โดยสารหนาแน่น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้รวดเร็ว ตรงเวลา และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รายงานสถิติจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถเมล์ฟรี เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 มีจำนวน 580,287 คน เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 และวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 มีจำนวน 596,662 คน เพิ่มขึ้น 43.84% เมื่อเทียบกับวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2568 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนให้การตอบรับที่ดีและพร้อมที่จะเข้าร่วมการรณรงค์ลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม รถเมล์ทุกคันได้ดำเนินการตรวจสภาพรถโดยสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และตรวจวัดควันดำก่อนนำรถออกให้บริการ เพื่อช่วยลดการเกิดมลภาวะทางอากาศ
สำหรับแนวทางการชดเชยในส่วนของรายได้จะใช้ทั้งหมด 190.41 ล้านบาท แบ่งเป็น รถไฟฟ้า 138.7 ล้านบาท และ ขสมก. 51.7 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าดังกล่าวเป็นการประเมินจากสถิติย้อนหลังตามค่าเฉลี่ย ไม่ได้นำจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นมาคำนวณ และยอดชดเชยดังกล่าวมาจากงบกลาง โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติภายในสัปดาห์หน้า ในส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะใช้เงินทุนหมุนเวียนจากกำไรสะสมเข้ามาชดเชย โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากส่วนกลาง
นายสุริยะ ได้กล่าวต่อว่า จากภาพรวมปริมาณการใช้รถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะประสบผลสำเร็จและมั่นใจว่าประชาชนจะให้การตอบรับที่ดี และหันมาใช้บริการรถสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ขอยืนยันว่ารถไฟฟ้าทุกสีและทุกสายจะเข้าร่วมโครงการตามที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนระยะกลางและระยะยาวนั้น จะเร่งส่งเสริมการขนส่งสาธารณะ พร้อมกับเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงพิจารณาด้านมาตรการการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) โดยการสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน รวมทั้งการปรับภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ จะจำกัดการใช้รถยนต์เก่าหรือจัดเก็บภาษีรถยนต์เก่า และเสริมสร้างแนวความคิดในการบูรณาการสวัสดิการกับนโยบายของแต่ละหน่วยงาน ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะจะปรับสู่รูปแบบ EV ทั้งหมด เพื่อมุ่งเน้นสร้างเสถียรภาพและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว
