ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายในช่วงระยะ 8 เดือน (7 กันยายน 2566 – 7 พฤษภาคม 2567) หน่วยงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ได้รายงานผลการดำเนินงาน พบว่า สามารถดำเนินงานได้ตามกรอบนโยบายที่กำหนดและยังสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับโลกได้เป็นรูปธรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก” โดยมีผลการดำเนินงาน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่
1. ด้านการส่งเสริมการคมนาคมทางน้ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมการใช้พลังงานจาก Solar cell ในอาคารสถานที่ เร่งรัดการจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เดินหน้าการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้พลังงานสะอาด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวร่วมกับห่วงโซ่อุปทาน (Green Port Supply Chain) ส่งเสริมการเป็นท่าเรือที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Port) เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ PM 2.5 เป็นต้น
2. ด้านการยกระดับการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ได้แก่ ยกระดับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ IMO, IUU และพัฒนากรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ASEAN และ JCCN
3. ด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการขนส่งมวลชนสาธารณะทางน้ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานโครงการเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนและสังคม
4. การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบให้ทันสมัยเป็นมาตรฐานสากล โดยการให้จัดส่งร่าง พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ…. ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรอความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ดร.มนพร กล่าวเพิ่มว่า นอกจากนี้ กทท. ยังได้รายงานผลการดำเนินโครงการก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตาม Timeline ที่กำหนดโดยเฉพาะโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล ปัจจุบันผู้รับจ้างนำบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มเติมจากเดิมรวมเป็น 520 คน และนำเครื่องจักรทางน้ำ (เรือขุด) เข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มจากเดิมรวมเป็น 67 ลำ โดย กทท. ได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ทันกำหนดเวลา และในส่วนที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการดาเนินการตามระเบียบปฏิบัติเพื่อลงนามในสัญญาต่อไป
สำหรับท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งประชาชนชาวกรุงเทพฯ ในภาพรวม ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่กำหนดให้พิจารณาการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการบริหารจัดการพื้นที่ เป็นการร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสม โดยในช่วงดำเนินการนั้นต้องพิจารณาให้ครบวงจร ครอบคลุมถึงการย้ายคลังและโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย ส่วนพื้นที่ในบริเวณท่าเรือกรุงเทพ ที่เป็นพื้นที่ว่างหรือสามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาใหม่ได้ จะนำมาใช้ประโยชน์เพื่อความเหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาการจราจร ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เป็นต้น
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพบริเวณที่ 2 นั้น จะเป็นโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษบางนา – อาจณรงค์ (S1) เพื่อให้การบรรทุกสินค้าออกสู่เส้นทางพิเศษอื่น ๆ โดยรอบได้รวดเร็วมากขึ้น พร้อมทั้งจะพัฒนาให้เป็นท่าเรืออัตโนมัติ รวมถึงพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าเพื่อตอบสนองผู้ใช้บริการได้อย่างครบวงจร
นอกจากนี้ กทท. ยังได้ดำเนินการตามข้อสั่งการ อาทิ โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ 90 ไร่ ในการพัฒนาพื้นที่ลานจอดรถบรรทุก (Trucking Parking) ท่าเรือแหลมฉบัง
ขณะเดียวกัน กทท. มีโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ บนขนาดพื้นที่ 710 ไร่ สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยโครงการท่าเรือบกแห่งนี้จะสนับสนุนการส่งออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป ฯลฯ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระบบราง ถนน และทางน้ำ รวมถึงรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กทท. ยังได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาท่าเรืออย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการ เช่น ท่าเรือกรุงเทพ ต้องเป็นท่าเรือที่ได้มาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการค้าการลงทุน และสนับสนุนธุรกิจ SMEs ได้เต็มรูปแบบ ท่าเรือแหลมฉบัง ต้องเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก เชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์สู่การค้าโลก แบบไร้รอยต่อ ท่าเรือระนอง ตั้งเป้าให้เป็นท่าเรือที่สนับสนุนการเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งทางฝั่งทะเลอันดามัน และท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน/ท่าเรือเชียงของ ต้องเป็นท่าเรือที่สนับสนุนการเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น