บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Airspace Users –Air Navigation Service Provider (ANSP) Meeting วันที่ 25 กันยายน 2561 ณ ห้องบอลรูม 2 โรงแรม Park Hyatt เพื่อหารือการให้บริการ จราจรทางอากาศ พร้อมรองรับการเติบโตและปัจจัยท้าทาย การบินของภูมิภาค โดยมี นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นประธานในพิธีเปิด
นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. ได้กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า เป็นช่องทางสำคัญที่วิทยุการบินฯ จะได้สื่อสารให้ผู้ใช้ห้วงอากาศ (Airspace Users) ได้ทราบทิศทางการดำเนินงานและร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะโดยตรงจากผู้ใช้บริการ เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้รองรับแนวโน้มการเติบโตของปริมาณเที่ยวบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 20 ปีข้างหน้า และคาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้จะมีอัตราการเติบโตที่สุด ในขณะที่ขนาดตลาดด้านการบินของไทยจะติด 1 ใน 10 อันดับสูงสุดของโลก
ด้านนายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. ได้นำเสนอการดำเนินงานและทิศทางองค์กรรวมถึงความคืบหน้าโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Thailand Modernization CNS/ATM System (TMCS) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบทั่วประเทศและคาดว่าจะเปิดใช้งาน อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2562 รวมทั้งการปรับปรุงเส้นทางบินเพื่อ เพิ่มศักยภาพการรองรับการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศให้มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ วิทยุการบินฯ ได้เชิญผู้แทนจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินไทยแอร์เอเชีย คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Airport Operators Committee: AOC) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนาเรื่อง “Airport Collaborative Decision Making (A-CDM)” ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลมาบริหารจัดการร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่ายและเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสนามบินมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยวิทยุการบินฯ ได้เริ่มทำการทดลองใช้ CDM Phase 1 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยขอความร่วมมือให้สายการบินระบุเวลาที่ คาดว่าจะมีความพร้อมในการ Pushback หรือTarget-off Block Time (TOBT) ผ่านระบบ Intelligent Departure Enhancement Program: IDEP หลังจากนั้นระบบจะคำนวณและแสดงเวลาที่เครื่องบินสามารถทำการ Pushback ได้หรือ Target- start Approval Time (TSAT) ซึ่งจะช่วยให้การบริหารเวลาและบริหารจัดการจราจรทั้งภาคพื้นและภาคอากาศได้ดียิ่งขึ้น สายการบินไม่ต้องรอที่ Holding Point นาน ทั้งนี้ จากการทดลองระบบ Phase 1 ผลเป็นที่น่าพอใจ สายการบินต่างแสดงเจตนารมณ์ร่วมสนับสนุนการพัฒนา A-CDM phase ต่อไป เพื่อยกระดับ On-Time Performance และ Predictability ของการบินของประเทศต่อไป