พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานร่วมพิธีลงนามความตกลงการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พิธีส่งมอบรถดีเซลราง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย – กัมพูชา ตลอดจนความร่วมมือต่างๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรถไฟฯ ได้จัดพิธีลงนามความตกลงการเดินรถไฟร่วมกัน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พิธีมอบรถดีเซลราง และพิธีเปิดสถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก โดยมีสาระสำคัญและความเป็นมาของทั้ง 3 พิธี ดังนี้
1. ความตกลงการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ในอดีตฝ่ายไทย – กัมพูชา เคยมีการเดินรถใน ปี 2485 ซึ่งมีการปิด – เปิด การเดินรถหลายครั้ง และมีการเดินรถครั้งสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม 2517 ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายทางรถไฟ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำร่างความตกลงฯ และได้ร่วมกันหารือเพื่อพัฒนาร่างความตกลงฯ มาอย่างต่อเนื่อง และในการหารือครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ณ กรุงพนมเปญ ทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปต่อร่างดังกล่าวและปรารถนาที่จะให้มีการลงนามความตกลงฯ ก่อนพิธีส่งมอบรถไฟดีเซลราง และในวันนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนประเทศไทย และ นายซุน จัน ทอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง เป็นผู้แทนประเทศกัมพูชา เป็นผู้ลงนามความตกลงการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งสาระสำคัญของความตกลงได้ครอบคลุมทั้งการโดยสารและการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงด้านรถไฟระหว่างไทย – กัมพูชา ทั้งทางด้านกายภาพ
ด้านกฎระเบียบ ตลอดจนความร่วมมือต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย
2. การส่งมอบรถดีเซลราง
จากผลการหารือทวิภาคี ในการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD Summit) ครั้งที่ 2 ในปี 2559 ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย – กัมพูชา ซึ่งได้ตกลงที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟไทย – กัมพูชา พร้อมสนับสนุนตู้โดยสารรถไฟให้กับประเทศกัมพูชา เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
สำหรับรถไฟที่การรถไฟฯ จะส่งมอบให้ประเทศกัมพูชา เป็นรถดีเซลราง หรือ Diesel Multiple Unit (DMU) ผลิตโดย บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นรถกำลังดีเซลรางมีห้องขับ (กซข.) หมายเลข 1035 และ 1038 และรถพ่วงดีเซลรางมีห้องขับ (พซข.) หมายเลข 40 และ 45 เข้าประจำการที่การรถไฟฯ ในปี 2513 – 2514 และมีการปรับปรุงในปี 2534 – 2537 โดยทำการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์และเครื่องถ่ายทอดกำลัง รวมถึงการปรับปรุงระบบเครื่องทำลมอัด ทำให้มีประสิทธิภาพในการเดินขบวนรถได้ดียิ่งขึ้น และมีการปรับปรุงครั้งล่าสุด เมื่อปลายปี 2559 ปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงรถดีเซลราง จำนวน 4 คัน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน นอกจากนี้ การรถไฟฯ ได้ทำการฝึกอบรมการขับรถและซ่อมบำรุงรถให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชา โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 การฝึกขับรถและตรวจเช็คเบื้องต้น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 – 26 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงรถพ่วงแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และช่วงที่ 2 จะจัดขึ้นภายหลังจากที่มีการส่งมอบรถแล้วที่ประเทศกัมพูชา มีเนื้อหาเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงรถ และการอบรมเทคนิคการขับเคลื่อน ระยะเวลา 15 วัน และในพิธีส่งมอบวันนี้เจ้าหน้าทีฝ่ายกัมพูชาที่ได้รับการอบรมจะเป็นผู้ขับรถไฟขบวนดังกล่าว
3. สถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก
สืบเนื่องจากความสำเร็จในการก่อสร้างสะพานรถไฟมิตรภาพ ระหว่างไทย – กัมพูชา ในปี 2559 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลไทย การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างสถานีชั่วคราว สถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก เป็นสถานีสุดท้ายของทางรถไฟสายตะวันออก (อรัญประเทศ) ตั้งอยู่บริเวณบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ห่างจากสะพานรถไฟ
มิตรภาพฯ ประมาณ 200 เมตร มีพื้นที่โดยประมาณ 13,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย อาคารสถานี เส้นทางรถไฟทางหลักและทางหลีก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดซื้อครุภัณฑ์พร้อมติดตั้ง ภายในอาคารสถานีแบ่งออกเป็น 6 ห้อง ประกอบด้วย ห้องหน่วยงานความมั่นคง ห้องตรวจปล่อย/ด่านศุลกากร ห้องตรวจคนเข้าเมือง ห้องด่านตรวจพืช ห้องด่านตรวจสัตว์น้ำ และห้องงานสถานีรถไฟ
ในโอกาสนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ขึ้นรถดีเซลรางขบวนดังกล่าว จากสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึกไปยังสถานีปอยเปต เพื่อส่งมอบรถอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ จากความร่วมมือกันของทั้งสองประเทศ จะส่งเสริมให้การเดินรถไฟสายตะวันออก (อรัญประเทศ) มีความสะดวกสบายมากขึ้น สนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก East – West Corridor ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่สำคัญ ยังเป็นการแสดงถึงความร่วมมืออันเกิดจากมิตรภาพของรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ที่ต้องการสร้างความสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตและความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนทั้ง 2 ประเทศ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
เพิ่มศักยภาพของภูมิภาคอาเซียนให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ