หลังจากที่ “สุรงค์ บุลกุล” ก้าวมานั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก็พร้อมแสดงพลังแรงสูงขับเคลื่อนแผนงานที่ค้างคา และแผนงานในอนาคต เพื่อให้สำเร็จลุล่วงอย่างเป็นรูปธรรม
โดยงานใหญ่งานแรกที่ต้องเร่งเคลียร์ คือ คำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่21 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ให้การทางพิเศษฯ จ่ายเงินชดเชยแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด เป็นเงิน 1,790 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย กรณีมีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ–รังสิต เป็นทางแข่งขันที่ทำให้ปริมาณการจราจรและรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด ของบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ ลดลงจากที่ประมาณการไว้
เรื่องดังกล่าว “สุรงค์ บุลกุล” เปิดเผยว่า เรื่องนี้มีแนวทางการแก้ไข และมีการเยียวยาหลายวิธี เชื่อว่า มีแนวทางการเจรจาแน่นอน จึงไม่รู้สึกกังวลมากนัก เพราะตนเกิดมาเป็นนักเจรจาอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าความสามารถ แต่ต้องขอเวลาและจังหวะในการเจรจา
สำหรับการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future:TFFIF) นั้น ได้รับนโยบายจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การทางพิเศษฯ จัดหาเงินทุนเอง ถ้าหาเงินทุนเองได้ เราก็จะทำ 3-4 เส้นทางพร้อม ๆ กัน จากที่ผ่านมาต้องรอสร้างเสร็จแต่ละเส้นทางใช้เวลา 5 ปี จึงจะได้ทางด่วนมา 1 เส้น เราก็คิดว่าทำไมเราไม่ทำทีเดียว 3 เส้น การคมนาคมจะได้มีความสะดวกสบาย และการจัดตั้งกองทุนฯ ก็ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนดี และมีความประสงค์จะกระจายการลงทุนไปให้นักลงทุนรายย่อยอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายกองทุนฯ ทางรัฐบาลจะมอบให้ การทางพิเศษฯ นำไปพัฒนาทางด่วน 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการทางพิเศษพระราม 3–ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และ โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก มูลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท
สำหรับโครงการในอนาคตนั้น ทางการทางพิเศษฯ ได้เตรียมไว้จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษศรีรัช–วงแหวนรอบนอกฯ (Missing Link) ระยะทางประมาณ 2.6 กม. มูลค่าลงทุนประมาณ 5-6 พันล้านบาท โครงการนี้จะเชื่อมโยงโครงข่ายของระบบทางพิเศษในแนวตะวันออก–ตะวันตก กับแนวเหนือ–ใต้ของพื้นที่กรุงเทพฯ บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในระดับพื้นดินบริเวณสถานีกลางบางซื่อ และทางด่วน รวมทั้งเชื่อมโยงกับระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ นอกจากนี้ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางจากพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันตกมุ่งเหนือไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองโดยใช้ทางยกระดับอุตราภิมุข ทั้งนี้ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุน พ.ศ.2556 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 62 และเปิดให้ริการปีงบประมาณ 65
2.โครงการทางพิเศษสายกะทู้ –ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มูลค่าลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาท มีระยะทาง 3.98 กม. เชื่อมโยงการเดินทางจากอำเภอกระทู้ ไปยังหาดป่าตอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โครงการนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอโครงการตามขั้นตอน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุน พ.ศ.2556 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 63 และเปิดให้บริการปีงบประมาณ 67
3.โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช–นครนายก–สระบุรี จะเป็นเส้นทางจากกรุงเทพไปยังภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดปัญหาจราจรติดขัดของถนนพหลโยธิน ถนนรังสิต–นครนายก และระบบโครงข่ายถนนโดยรอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงาน EIA
4.โครงการเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา–อาจณรงค์ (S1) ซึ่งเป็นทางชึ้นลงทางพิเศษที่เชื่อมต่อกับบริเวณพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าของท่าเรือกรุงเทพ ยกระดับไปตามแนวเกาะกลางของถนนภายในท่าเรือกรุงเทพ เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางนา–อาจณรงค์ (S1) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังทางพิเศษบูรพาวิถีและเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชทศทางไปยังถนนจตุโชติและถนนวงแหวนรอบนอกฯด้านตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน โดยคาดว่า สนข.จะเป็นหน่วยงานกลางในการศึกษาความเหมะสมและออกแบบรายละเอียดของโครงการ โดยใช้งบศึกษาโครงการจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาร 65 และเปิดใช้ในปีงบประมาณ 66
และ 5.โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางโครงการบริเวณจุดสิ้นสุดทางพิเศษสายบูรพาวิถี ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี วิ่งบนทางหลวงหมายเลข 3 จุดสิ้นสุดทางหลักอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับทางเลี่ยงเมืองชลบุรี โดยมีทางขึ้น–ลงบนทางหลวงหมายเลข 361 (ทางเลี่ยงเมืองชลบุรี) บริเวณจุดตัดถนนเทศบาลคลองตำหรุ 12 โดยมีระยะทาง 3.5 กม. โครงข่ายนี้แก้ปัญหาจราจรติดชันด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะนครโดยลดปริมาณรถที่ลงจากทางพิเศษบูรพาวิถีไปยังถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี และยังเป็นการเชื่อมต่อไปยังทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เพื่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง สนับสนุน EEC ทั้งนี้ กทพ.อยู่ระหว่างเตรียมการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และจะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2565 และเปิดใช้ในปีงบประมาณ 2568