ท่าเรือเทียนจินเปิดตัวเส้นทางเดินเรือเมดิเตอร์เรเนียน (MSC) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็น ทางการครั้งแรก ซึ่งถือเป็นเส้นทางใหม่สายที่ 3 ของเส้นทางเดินเรือตามเส้นทาง BRI และประเทศสมาชิก RCEP ของท่าเรือเทียนจิน โดยเส้นทางเดินเรือเมดิเตอร์เรเนียน (MSC) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เป็นเส้นทางเดินเรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เส้นแรกที่ดำเนินการโดยบริษัท Mediterranean Shipping Company (MSC) ในท่าเรือเทียนจิน โดยมุ่งเน้นการให้บริการประเทศสมาชิกภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ RCEP เช่น ประเทศเวียดนาม ไทย สิงคโปร์มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยจะให้บริการเรือขนส่งตู้คอนเทน เนอร์5 – 6 ลำ หรือประมาณ 2,500 – 3,500 ตู้ต่อสัปดาห์
ตัวแทนบริษัท MSC เปิดเผยว่า เส้นทางเมดิ เตอร์เรเนียน (MSC) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เส้นทางใหม่นี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อโดยตรงจากท่าเรือเทียนจินถึงท่าเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งจะสามารถตอบสนองการเชื่อมโยงตลาดภาคเหนือของจีนที่ต้องการ ส่งออก – นำเข้าสินค้าระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา ท่าเรือเทียนจินยังได้เปิดตัวเส้นทางเดินเรือ CMA/ Taiping/ Honghai เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเส้นทางเดินเรือ SITC เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตัวแทนของบริษัทท่าเรือเทียนจิน เปิดเผยว่า การเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่อย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ทุกวันระหว่างท่าเรือเทียนจินและท่าเรือหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเลจากเมืองเทียนจินไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สั้นลงเหลืออย่างน้อย 9 วัน ซึ่งสามารถให้บริการช่องทางการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือ RCEP ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปีนี้ ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2022 จีนมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกกับประเทศตามเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมทางบกและทางทะเล (BRI) และประเทศสมาชิก RCEP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 และร้อยละ 5.6 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ท่าเรือเทียนจิน ในฐานะที่เป็นประตูสู่ทะเลของกรุงปักกิ่ง มหานครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย์ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็น จุดให้บริการทางทะเลและทางบกของเส้นทาง BRI และให้บริการเต็มรูปแบบในการเป็นท่าเรือศูนย์กลางระหว่างประเทศ ขณะที่ปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งในที่นี้เป็นปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์กับประเทศสมาชิก RCEP เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม และเมียนมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 (YOY)
สำนักงาน ศุลกากรเมืองเทียนจิน เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 ท่าเรือเทียนจินมีปริมาณการส่งออก – นำเข้าระหว่างประเทศกับประเทศตามเส้นทาง BRI ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.6 และมีปริมาณการส่งออก – นำเข้ากับประเทศสมาชิก RCEP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่ต้นปี 2022 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทท่าเรือเทียนจินยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาและปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากรตามเส้นทางการ เดินเรือให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการค้าระหว่างประเทศ ใน 7 เส้นทางหลัก เช่น ออสเตรเลีย และสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2022 กลุ่มบริษัทท่าเรือเทียนจินมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 10.51 ล้าน TEU เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 (YoY) ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ได้วิเคราะเรื่องนี้ว่า ท่าเรือเทียนจินถือเป็นประตูออกสู่ทะเลที่สำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังนานาประเทศของ ภาคเหนือจีน โดยเฉพาะกรุงปักกิ่ง มหานครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย์นอกจากนี้ ยังเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ ติดอันดับ Top 10 ของจีน รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียเหนือ เอเชียกลาง และเอเชียตะวันตกอีกด้วย ซึ่งทำให้การเปิดตัวเส้นทางให้บริการขนส่งโดยตรงจากท่าเรือเทียนจินไปยังท่าเรือ หลักที่สำคัญของประเทศสมาชิก RCEP และประเทศตามเส้นทาง BRI จะช่วยส่งเสริมความสามารถของเครือข่ายโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลกของท่าเรือเทียนจิน และเพิ่มบทบาทการขับเคลื่อนการเป็นฮับของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภาคเหนือของมหานครเทียนจิน และยังช่วยเร่งพัฒนายุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน จากการที่ท่าเรือเทียนจินมีแนวโน้มการค้า ระหว่างประเทศกับประเทศตามเส้นทาง BRI และประเทศสมาชิก RCEP ที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ความสัมพันธ์ด้านการค้าของมหานครเทียนจินกับไทยในช่วงปีที่ผ่านมาก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.54 (YoY) และถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 นี้ การค้าระหว่างมหานครเทียนจินกับไทยจะลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.81 (YoY) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ระลอกใหม่ และนโยบาย Zero COVID ของจีนจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างมหานครเทียนจินกับประเทศไทยอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมการค้าระหว่างสองฝ่ายยังอยู่ในทิศทางที่ดี
ดังนั้น เส้นทางเดินเรือตรงจากท่าเรือเทียนจินสู่ท่าเรือหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นอีกเส้นทางที่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบ สิทธิพิเศษการใช้บริการ และพิจารณาเลือกใช้เส้นทางเดินเรือดังกล่าวในการขยายช่องทางการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดภาคเหนือของจีนได้โดยตรง เนื่องจากสามารถประหยัดระยะเวลาในการเดินเรือ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่อยู่ตามแนว เส้นทาง BRI และข้อตกลงความร่วมมือ RCEP ที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ และพยายามเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศของจีนกับภูมิภาคต่างๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ด้าน การค้าจากการเดินเรือผ่านเส้นทางใหม่นี้ และสามารถยกระดับการค้าระหว่างประเทศกับประเทศและเมือง สำคัญของจีนตามเส้นทางเดินเรือแห่งนี้มากขึ้นตามไปด้วย
แหล่งที่มา: https://xw.qq.com/cmsid/20220724A02W0U00?f=newdc
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว