สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้หลายประเทศต้องประกาศมาตรการปิดพื้นที่ (Lockdown) ส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งทางอากาศทั่วโลก
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ธุรกิจการบินเริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศลดลง ซึ่งในภาพรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 มีปริมาณเที่ยวบินจำนวน 464,944 เที่ยวบิน ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 1,042,342 เที่ยวบิน หรือคิดเป็นร้อยละ 55
นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ปฏิบัติการ) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เปิดเผยถึงการคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินปี 2564 ว่า สถานการณ์ยังคงอยู่ภายใต้การได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรค COVID-19 แต่จะมีแนวโน้มดีขึ้นหากมีความเป็นไปได้ในการนำวัคซีนมาใช้ในอนาคต รวมถึงปัจจัยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายของรัฐบาล แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังอยู่ในอัตราแบบชะลอตัว ซึ่งการคาดการณ์เที่ยวบินในภาพรวมจะมีการปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยบวกต่างๆ แต่อาจมีการชะลอตัวหากการระบาดระลอกใหม่มีความรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะกระทบในระยะสั้นและจะกลับมาปรับตัวดีขึ้นหลังจากนั้น
ทั้งนี้สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ประเมินผลกระทบจากโรค COVID-19 ต่อธุรกิจการบินทั่วโลกว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติเท่ากับช่วงเวลาก่อนได้รับผลกระทบประมาณปี 2566-67 โดยเที่ยวบินภายในประเทศจะกลับมาทำการบินได้เร็วกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าวที่สายการบินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงนั้น บวท. ในฐานะหน่วยงานให้บริการการเดินอากาศของประเทศไทย ได้ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากโรค COVID-19 โดยได้ปรับลดค่าบริการการเดินอากาศในอัตราร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และอัตราร้อยละ 20 สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ระหว่างเดือน เมษายน-ธันวาคม 2563 และยกเว้นค่าปรับจากการชำระล่าช้าของสายการบินผู้ถือหุ้นสำหรับค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศ และกลุ่มลูกค้าธุรกิจการบินสำหรับค่าเช่า และค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์สื่อสารเป็นจำนวน 90 วัน นับจากวันที่ครบกำหนดชำระระหว่างเดือนมีนาคม – กันยายน 2563
ทั้งนี้ บวท. ยังคงมุ่งมั่นในการให้บริการการเดินอากาศเพื่อความปลอดภัย ทุกเที่ยวบิน ด้วยประสิทธิภาพตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อีกทั้งปรับปรุงกระบวนการและนโยบายความเสี่ยงทุกด้าน เตรียมความพร้อมด้านการบริการจราจรทางอากาศ งานวิศวกรรมจราจรทางอากาศ และส่วนสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด