เป็นที่ตราตรึงใจและเก็บไว้ในความทรงจำไปอีกนานสำหรับภาพประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย“เรือของพ่อ”ต.91 ได้เวลาอำลาใต้ท้องวารีไทยหลังรับใช้ชาติปกป้องท้องทะเลไทยนาน 5 ทศวรรษสู่ผืนปฐพีอุทยานประวัติศาสตร์ฯเมื่อห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยทหารเรือนำรถพ่วงทำการลำเลียงออกจากกรมอู่ทหารเรือไปตั้งที่อุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ“เรือ ต.91”ริมชายหาดหน้าสโมสรสัญญาบัตร กองเรือยุทธการอ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี.เสมือนสิ้นสุดการเดินทาง“เรือของพ่อ”ปกป้องท้องทะเลไทยเป็น…กาลนิรันดร์!
![](https://www.transtimenews.co/wp-content/uploads/2020/09/9999.jpg)
การเคลื่อนย้าย“เรือของพ่อ”ครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางครั้งสำคัญ ที่ได้ออกสู่สายตาสังคมพลางอวดโฉมความสง่างามให้เป็นที่ประจักษ์ประชาชนได้พบเห็นตลาดเส้นทางการเคลื่อนย้าย เป็นภาพตราตรึงที่พบเห็นอดไม่ได้ต้องหยิบกล้องออกมาไว้เพื่อบันทึกไว้อยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม เพราะจากนี้ไปจะไม่เห็นเรือลำนี้ประจำการอยู่ในท้องทะเลไทยอีกแล้ว
สำหรับเรือต.91เป็นเรือที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์การต่อเรือรบไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการออกแบบและต่อเรือเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯทอดพระเนตรการต่อเรือยนต์รักษาฝั่ง ประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2503
เมื่อพระองค์เสด็จฯนิวัตประเทศไทยได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่กองทัพเรือว่า“กองทัพเรือควรต่อเรือประเภทนี้ใช้เองบ้าง”จนนำมาซึ่งโครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.91 ได้เสร็จสมบูรณ์เข้าประจำการในปีพ.ศ.2511โดยพระองค์ได้เสด็จฯมาประทับบนเรือเพื่อทำการทดสอบสมรรถนะด้วยพระองค์เอง
จากพระมหากรุณาธิคุณถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการต่อเรือใช้เองของกองทัพเรือ และประเทศชาติ จึงเปรียบได้ว่าเรือ ต.91 เป็น“เรือของพ่อ”นับตั้งแต่นั้นมา
ทั้งนี้ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ“เรือ ต.91”จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สืบสานพระราชปณิธานในการต่อเรือ เพื่อพึ่งพาตนเองมาจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งการเรียนรู้อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง (Landmark)อันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
![](https://www.transtimenews.co/wp-content/uploads/2020/09/55555.jpg)
ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ในความทรงจำของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนเจ้าภาพหลักคือกองทัพเรือ ทีมงานรถเครน และที่ขาดไม่ได้คือบริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่อย่างวัฒนะกล ทรานสปอร์ต(ขออภัยที่เอ่ยนาม)ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์กับการบรรทุก-บันทึกการเดินทาง“เรือของพ่อ”อำลาท้องวารีสู่ผืนปฐพีอุทยานประวัติศาสตร์ฯได้เวลา…พักเป็นกาลนิรันดร์
เห็นแล้ว…ชวนให้คิดถึงพ่อผู้อยู่บนฟ้า!
:วิหคไพร