นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารา มาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) รักษาเสถียรภาพราคายางพารา ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่ม
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ได้รับทราบแนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยดังกล่าว โดยใช้ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” (Rubber Fender Barrier : RFB) และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” (Rubber Guide Post : RGP) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนให้แก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นให้ใช้ยางพาราเป็นวัสดุในการปรับปรุง ก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางพาราในประเทศ และสร้างสมดุลราคายางพาราให้เหมาะสม
“พี่น้องประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น ช่วยลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนนและในขณะเดียวกันก็ยังช่วยสร้างความมั่งคั่ง สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง”
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ ได้ทำพิธีกดปุ่มสัมผัสเพื่อเปิดการใช้งาน โดยเกษตรกรชาวสวนยางให้การปรบมือแสดงความยินดี และเครื่องจักรได้ทำการติดตั้ง “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” (Rubber Fender Barrier : RFB) และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” (Rubber Guide Post : RGP) ที่บริเวณถนนหน้าสถานที่จัดงาน พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีและคณะ ยังได้เดินชมนิทรรศการเสมือนจริง โดยมีการสาธิตเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ มาผลิตจริงให้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็น พร้อมกับเดินทักทายพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่มาร่วมงานอย่างเป็นกันเองอีกด้วย
ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพี่น้องประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำยางพารามาใช้เป็นอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างเสถียรภาพราคายางพาราอย่างยั่งยืน
“กรมทางหลวงชนบท จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้มีการศึกษาและวิจัยพบว่า มี 2 ผลิตภัณฑ์ ที่มีความเหมาะสม กับการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก สามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้ คือ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” (Rubber Fender Barrier : RFB) และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” (Rubber Guide Post : RGP)” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าว
อย่างไรก็ดี แผนการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2563 – 2565 โดยมีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ทดแทนที่เสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุกๆปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน ซึ่งเป็นการสร้างเสถียรภาพราคายางพารา ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน