บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA คืบหน้าลุยสร้างสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก พร้อมพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางการบินเอเชีย
ล่าสุดคณะผู้บริหารบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด นำโดย นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกวิน กาญจนพาสน์ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ และ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ร่วมจัดแถลง “ความคืบหน้า โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก” ครั้งที่ 1 ณ ห้องจามจุรี เมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท กรุงเทพฯ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ได้ทำการจัดส่งแผนแม่บทตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (แผนแม่บทฯ) เพื่อกำหนดตำแหน่งและจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่สำคัญต่างๆ ในโครงการฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามกำหนดเวลาภายใน 60 วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับความคืบหน้าของ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” ในส่วนของการจัดส่งแผนแม่บทฯ นี้ นับเป็นความคืบหน้าสำคัญที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในการเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญต่อการพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และต่อการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยแผนแม่บทฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงจุดเชื่อมโยงของโครงการฯ กับโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สามารถประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ให้สนับสนุนการพัฒนาโครงการฯ ได้อย่างเต็มที่ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ คือ
- การยืนยันแนวเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
- การแสดงแนวเส้นทางระบบโครงข่ายถนนเชื่อมต่อสู่สนามบินและเมืองการบิน
- การแสดงข้อมูลของรันเวย์ที่ 2 ที่ทางกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ
- การแสดงแนวเส้นทางของระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา และระบบเชื้อเพลิงเข้าสู่สนามบิน
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัท OPi ซึ่งประกอบไป ด้วย Oriental Consultants Global (OCG), Pacific Consultants (PCKK), IBIS Company Limited (IBIS) เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา สำหรับ Lead Consulting Firm ซึ่งนำโดย OCG และ PCKK นั้นเป็นบริษัทที่ให้การบริการด้านงานวิศวกรรมที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญในงานโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติ อันประกอบด้วยงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ, งานจัดทำแผนแม่บท, งานออกแบบ และงานควบคุมงานก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มงานสนามบินซึ่งเป็นงานที่เชี่ยวชาญอย่างยิ่ง โดยผลงานสำคัญได้แก่ สนามบินนาริตะ, สนามบินฮาเนดะ, สนามบินคันไซ, สนามบิน Changi รวมถึงงานสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีประสบการณ์มากกว่า 4,500 โครงการใน 150 ประเทศ
ซึ่งนอกจากนี้ในกลุ่มบริษัท OPi จะมี IBIS Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาสัญชาติไทยที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญสูงในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางด่วน, ทางรถไฟ, ระบบขนส่งสาธารณะ และการบิน ทั้งในและต่างประเทศ และบริษัท To70 (Thailand) Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรมการบินและธุรกิจการบินระดับโลกซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศไทย โดยนับเป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดทางตะวันตก กับแนวทางการทำงานของตะวันออก โดยมีความเป็นไทยผสมอยู่อย่างลงตัว เพื่อให้เป็นสนามบินนานาชาติระดับโลกที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยอีกด้วย
อนึ่ง ในส่วนของความคืบหน้าอื่นๆ ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ภายในช่วงระยะเวลาสองเดือนนับจากการลงนามในสัญญา ได้แก่
- การสำรวจพื้นที่เบื้องต้น เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และการขออนุมัติเข้าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อทำการสำรวจ Topographic เพื่อประกอบการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งทาง UTA คาดว่าจะเข้าสำรวจพื้นที่จริงและรับมอบพื้นที่จากทาง EEC ได้ภายในต้นเดือนกันยายน 2563
- การเข้าสำรวจพื้นที่ TG MRO – ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมการรื้อย้ายและเคลียร์พื้นที่สำหรับการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ นายกวิน กาญจนพาสน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินการพัฒนา “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” ให้เป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึง การเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ในการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดจากรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวกสบาย ทันสมัย ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ