สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย นำโดย ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยสมาชิกกว่า 50 ราย เดินทางเข้าพบอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ณ อาคาร 1 กรมการขนส่งทางบก เพื่อทวงถามถึงมาตรการเยียวยา ทั้งนี้สมาคมฯ พยายามดำเนินการด้วยการทวงถามทางเอกสารมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล
ดร.วสุเชษฐ์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการรถโดยสารนำเที่ยวมีสัญญาณเตือนถึงความเดือดร้อนมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในวงกว้างในช่วงเดือนมีนาคม และรัฐบาลสั่งล็อคดาวน์ประเทศ จนถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว ที่ผู้ประกอบการไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงใจจากภาครัฐฯ
“เราเข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก แต่การออกโครงการช่วยเหลือต่างๆ เห็นได้ชัดว่าเป็นการช่วยอุ้มรายใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กของไทยนอนรอวันตาย รวมถึงความล่าช้าของกระบวนการทำงานของระบบราชการ สมาคมฯ ได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ตลอดระยะที่ประสบปัญหา ทางสมาคมฯ พยายามหารือกับทางกรมการขนส่งทางบกตลอด ทั้งทางตรงและการเข้าพบส่วนตัว แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม”
อย่างไรก็ดี สมาคมฯ พร้อมด้วยผู้ประกอบการกว่า 50 ราย ขอเป็นตัวแทนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศ เข้าพบท่านอธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายจิรุตม์ วิศาลจิตร โดยข้อเรียกร้องที่ทางสมาคมฯ ได้นำเสนอและมีการหารือกับกรมการขนส่งทางบกมาโดยตลอด ซึ่งหวังว่าจะได้รับการพิจารณา
ทั้งนี้ทางสมาคมฯ ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการทั่วประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะเห็นใจผู้ประกอบการคนไทย ที่ผ่านมาเราได้สูญเสียไปมากแล้ว และยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาดีขึ้นอีกเมื่อไหร่ อยากให้ภาครัฐฯ ช่วยเราอย่างจริงใจ ตอนนี้ผู้ประกอบการแบกรับภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก หลายรายประกาศปิดกิจการ อย่าให้ผู้ประกอบการไทยต้องตายสนิทเลย
ย้อนไทม์ไลน์ สปข. ยื่นหนังสื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
•26 กุมภาพันธ์ 63
นายก สปข. พร้อมคณะ เข้าพบผู้เกี่ยวข้อง ภายหลังจากอธิบดีกรมขนส่งฯ เปิดโอกาสให้แจ้งเรื่องร้องเรียน
1.ผลัดผ่อนการชำระภาษีรถ30 ชั่วคราวไปก่อน
2.เปลี่ยนค่าปรับ เป็นเรียกตักเตือนและจัดอบรมแทน
3.งดค่าแอร์ไทม์GPSไปก่อน
•27 กุมภาพันธ์ 63
สปข. ออกหนังสือเวียนขอข้อมูลผู้ประกอบการที่มีความเดือดร้อนขั้นฉุกเฉินจากภาวะโควิด-19 ให้ระบุจำนวนหนี้ในระยะ 3เดือน (มี.ค.-พ.ค.) รวมถึงภาระหนี้อันเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ที่จะทำให้ไม่ต้องเลิกจ้างพนักงาน
•5 มีนาคม 63
สปข. ออกแถลงการณ์คัดค้านการแจกเงินช่วยเหลือ 1,000-2,000บาท และขอให้ภาครัฐทบทวนอีกครั้งเพื่อการเยียวยาถึงประชาชนที่แท้จริง
•6 มีนาคม 63
ประชุมหารือ ณ กรมการขนส่งทางบก ร่วมด้วยสมาคมประกันวินาศภัย ,สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ,สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
สมาคม สปข.จึงได้นำเสนอข้อเรียกร้องดังนี้
1.สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย : การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของบริษัทไฟแนนซ์หรือการลดการส่งค่างวดรถโดยสารหรือการพิจารณาพักชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการขนส่ง โดยดูเงื่อนไขไม่ให้เป็น NPL ในอนาคต
ซึ่งทางสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ได้ขอรายชื่อกลุ่มลีสซิ่ง เพื่อจะเรียกเข้าหารือและหาแนววทางต่อไป แต่สำหรับในบางหน่วยงานได้มีการประสานไปยังกลุ่มลูกค้าแล้ว
2.สมาคมประกันวินาศภัยไทย : การขยายเวลาคุ้มครองหรือลดเบี้ยประกันของบริษัทประกันภัยโดยสมาคมประกันวินาศภัยซึ่งได้ชี้แจงในที่ประชุมเกี่ยวกับ การขยายเวลาความคุ้มครองประกับออกไปแม้ประกันจะครบกำหนด โดยรถนั้นๆ จะต้องมีภาวะจอดนิ่งๆ ไม่ใช่รถที่จอกในโรงซ่อม และกรมขนส่งฯ สามารถเช็คGPSได้
3.สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
ในส่วนของ GPS ทางกรมการขนส่งทางบกขอเวลาอีกสักเล็กน้อย เพื่อประสานไปยังหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องในการหารือ หรือเรียกประชุมพร้อมกัน
•ช่วงตลอดเดือนมีนาคม 63
สมาชิก สปข. และผู้ประกอบการรถโดยสารทั่วประเทศ ร่วมรณรงค์การทำความสะอาดรถโดยสาร (Bus Big Cleaning) ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ มีการอบรมพนักงานบริษัท พนักงานขับรถ เตรียมความพร้อมในการให้บริการในรูปแบบใหม่
•13 มีนาคม 63
ภายหลังจาก สมาคม ร่วมเจรจาหารือ กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นั้น
ทาง คปภ.ได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการรถโดยสารนำเที่ยว มาตรการแบ่งเป็น 2ส่วน กล่าวคือ ส่วนแรกหากรถหยุดการวิ่งให้บริการตั้งแต่ 30วันขึ้นไป สามารถรับคืนเบี้ยประกันภัย หรือ ขยายเวลาคุ้มครองประกันภัยออกไปในช่วงที่มีการหยุดใช้รถได้
ส่วนที่สอง เป็นการลดเบี้ยประกันในการต่ออายุประกันหรือประกันรถยนต์ฉบับใหม่ ได้ถึง 30%
ทั้งนี้สมาคมจึงได้ขอให้ผู้ประกอบการติดต่อประสานกับบริษัทประกันภัยที่ดูแล
•13 มีนาคม 63
สมาคมได้รับข้อมูลสมาชิกที่เดือดร้อนในภาวะฉุกเฉิน จำนวน 106 ราย เพื่อนำเข้าประชุมกับ สมาคมธนาคารไทยต่อไป
•13 มีนาคม 63
นายก สปข.ประชุมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานสถาบันการเงิน
-ธนาคารออมสิน
-ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
-บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
ประชุมแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของ Covid-19
•17 มีนาคม 63
นายก สปข. ออกสื่อ ขอความเห็นในการ “ขอให้ปิดประเทศ”
•22 มีนาคม 63
สปข. เรียกร้องรัฐบาล เพิ่มความรัดกุมในการคัดกรองประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ด้วยมีการรายงานถึงความแออัด และไม่มีวินัยที่สถานีขนส่งต่างๆ หากรัฐไม่เข้มงวด รถไม่ประจำทางจำเป็นต้องงดให้บริการ
•24 มีนาคม 63
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ลงนาม ร่วมกัน “หยุดชำระหนี้ทุกประเภท”
•29 มีนาคม 63
นายก สปข. มีหนังสือทวงถามและติดตามขอความช่วยเหลือจากกรมการขนส่งทางบก
1.เรื่องการเสียภาษีประจำปี ขอความอนุเคราะห์งดเว้นชำระภาษี ด้วยเป็นภาวะที่รถมิได้ออกให้บริการ ทั้งนี้หากรถของผู้ประกอบการที่ได้รับการงดเว้นชำระภาษี แล้วนำรถออกวิ่งจะต้องรับโทษตามกฎหมาย
2.ขอความอนุเคราะห์งดเว้นการตรวจสภาพกลางปีรถโดยสาร
3.ผู้ประกอบการขอไม่แจ้งเลิกใช้รถ (ม.89) เพราะมีค่าธรรมเนียมและขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก เมื่อเวลาจะกลับมาใช้รถตามปกติ แต่ผู้ประกอบการจะไปแจ้งระงับประกันภัย และระงับการใช้จีพีเอส เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย
•30 มีนาคม 63
ที่กระทรวงแรงงาน นายจิระเดช อุปนายกสมาคม สปข.เข้าหารือในนามของผู้ประกอบการท่องเที่ยวยื่นข้อเสนอให้ประกันสังคมช่วยดูแลรับผิดชอบ ดังนี้
1.ค่าแรงงานสำหรับปรงงานที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดรวมถึง พนักงานขับรถโดยสาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชย เนื่องจากไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ ซึ่งข้อเสนอขอไปวงเงินคนละ 70% จาก 15,000 เป็นเวลา 6 เดือน
2.ขอยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทั้งหมดเป็นเวลา 6 เดือน
•31 มีนาคม 63
กรมขนส่งฯ ออกประกาศ ลงนามอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยกเว้นตรวจสภาพกลางปีของงวดกันยายน ที่จะต้องตรวจในเดือนเมษายน
•2 เมษายน 63
นายก สปข. นำเรียนสมาชิกผ่านคลิปในเพจ สปข. ถึงความคืบหน้าต่างๆ ที่ทีมสมาคมหาทางช่วยเหลือเพื่อนผู้ประกอบการ ฝากสมาชิกติดตาม คณะทำงานจะพยายามถึงที่สุด ทั้งในเรื่องการหาแหล่งเงินกู้ การหาเงินช่วยเหลือเยียวยา เงินจากประกันสังคม
•4 เมษายน 63
นายก สปข. ร้องผ่านสื่อ รถทัวร์ 3หมื่นกว่าคัน จอดตาย พนักงานขับรถกว่า 4หมื่นราย ตกงานขาดรายได้ ประกันสังคมไม่ดูแล เงินกู้ปล่อยยากและช้า อาจต้องขอกดดันภาครัฐหากมาตรการไม่มีผลดีอะไร
•29 เมษายน 63
สปข. ยื่นหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก ขอให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสาร
•1 พฤษภาคม 63
สปข. ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง , กระทรวงคมนาคม
•8 พฤษภาคม 63
สปข.เริ่มเผยแพร่ แผนการดำเนินงานโครงการแนวทางความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ SHA โดย ททท.จะเป็นผู้จัดทำตราสัญลักษณ์ พร้อมหมายเลขให้กับผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการทำงานในอนาคต
•18 พฤษภาคม 63
สปข. ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมลงทะเบียน SHA
•25 พฤษภาคม 63
สปข.จัดนำร่อง ร่วมกับ ธนาคาร SME ทำโครงการ Sme D Service เปิดให้ผู้ประกอบการเข้าเจรจาขอสินเชื่อ กรณีพิเศษ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่างๆ โดยเริ่มจากทำในผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลก่อน และจะพิจารณาให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาในลำดับต่อไป
•28 พฤษภาคม 63
สปข.ยื่นหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก ขอทราบแนวทางปฏิบัติและมาตรการป้องกันที่กรมฯกำหนด เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรับทราบ
•1 มิถุนายน 63
กรมการขนส่งทางบก ออกประกาศลงวันที่ 1 มิ.ย.63 เรื่องมาตรการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับรถโดยสารสาธารณะ
•3 มิถุนายน 63
รมว.คมนาคมสั่งทบทวนตัวเลขอีกครั้ง ภายหลังได้รับตัวเลขจาก 7หน่วยงานคมนาคม โดยมีเรื่องที่ สปข.ร้องเรียนไป เข้าสู่กระบวนการพิจารณาด้วย
•11 มิถุนายน 63
สปข.ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจ การลงทะเบียนทำมาตรฐาน SHA ของรถโดยสาร นำเสนอข้อแนะนำต่างๆ ในการลงทะเบียนของผู้ประกอบการ
•15 มิถุนายน 63
สปข.ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดสัมมนาออนไลน์ผ่านแอพ ZOOM ให้กับพนักงานขับรถโดยสาร
•25 มิถุนายน 63
สปข.นำผู้ประกอบการเข้าร่วมสัมมนาการอบรมเชิงปฏิบัติการ Thailand Sure 2020 จัดโดย สสว.