ครม.ไฟเขียวเงินกู้เมียนมา 1.4 พันล้านบาท ปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้ง เพิ่มความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ เชื่อเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและนักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น
นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้ง (เขต North Okkalapa และเขต North Dagon) วงเงินให้กู้ (เงินกู้ทั้งจำนวน) 1,458,248,000.00 บาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 1,339,817,011.00 บาท ค่าวิศวกรที่ปรึกษา 51,440,138.45 บาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 66,990,850.55 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี) และค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ.ร้อยละ 0.15 ของวงเงินให้ความช่วยเหลือทั้งหมด เงินกู้จากสถาบันการเงินในประเทศและขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากเงินงบประมาณ โดยมีเงื่อนไขผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษาต้องเป็นนิติบุคคลไทย การใช้สินค้าและบริการจากไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา และกฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสัญญาเงินกู้เป็นกฎหมายไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยเมียนมาจะปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเขต North Okkalapa ประกอบด้วย ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย จำนวน 3 แห่ง ติดตั้งและปรับปรุงสายส่งไฟฟ้า สายจำหน่าย และหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยปรับปรุงความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่โครงการทำให้ประชาชนและนักลงทุนในพื้นที่โครงการสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-ต่างชาติ ในเมืองย่างกุ้ง ส่งผลให้เกิดการสร้างงานและรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเมียนมา
ทั้งนี้ ยังช่วยดึงดูดนักลงทุนชาวไทยเข้าไปลงทุนในเมียนมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของเมียนมาที่มีการเจริญเติบโตทางด้านการค้าและการลงทุนสูงมาก ตลอดจนช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของนักลงทุนไทยในเมียนมาให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยการลงทุนทางตรงของนักลงทุนไทยในเมียนมา ณ สิ้นปี 2562 มีมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และจีน
นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนนกิจการค้าของไทย เพราะเงื่อนไขเงินกู้ให้ใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ จากไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และใช้ผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรที่ปรึกษาจากไทยเป็นหลักในการดำเนินโครงการ รวมทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาคและลดโอกาสการหลั่งไหลของแรงงานเมียนมาที่ต้องการหลบหนีเข้ามาทำงานในไทย ซึ่งไทยจะสามารถลดภาระในการดูแลกลุ่มคนดังกล่าวได้ ตลอดจนลดโอกาสในการเกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่อาจตามมาหากมีการหลบหนีของแรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานไทยไทย อาทิ อาชญากรรม การค้ามนุษย์ โรคระบาด และการแพร่ระบาดของยาเสพติด แล้วในที่สุดจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเมียนมา