นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย คลีน ชลบุรี บนพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ ในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี มูลค่าการลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย First S-Curve และ New S-Curve ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เป็นต้น
การคมนาคมขนส่งที่เต็มรูปแบบทั้ง ทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ อาทิเช่น ทางหลวงหมายเลข 331 หนึ่งในเส้นทางคมนาคมสายหลักของ EEC มอเตอร์เวย์สายใหม่แหลมฉบัง- หนองคาย ตัดผ่านถนนทางเข้าโครงการที่ระยะทาง 1 กิโลเมตร จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ตามแนวเศรษฐกิจภาคเหนือและภาคใต้ ที่มีความสำคัญสูงในการรองรับการเดินทางของประชาชนและภาคการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะเชื่อมโยงให้โรงงานที่เข้ามาอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย คลีน ชลบุรี สามารถขนส่งสินค้าและวัตถุดิบแบบไร้รอยต่อระหว่างทุกภูมิภาคของประเทศไทย CLMV ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
นิคมอุตสาหกรรม เอเชีย คลีน ชลบุรี เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่มีระบบสาธารณูปโภคทันสมัย มีพื้นที่สีเขียวที่สมดุล รวมทั้งมีพื้นที่สำรองน้ำขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทั้งนี้ โครงการจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 ช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาทให้กับจังหวัดชลบุรี สร้างการจ้างงานและสร้างโอกาสพัฒนาแรงงานฝีมือเพื่อรองรับความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่น้อยกว่า 8,000 อัตรา เกิดการกระจายรายได้ และพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกับชุมชุนอย่างยั่งยืน
“นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย คลีน อินดัสเตรียล ปาร์ค เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 61 และเป็นนิคมอุตสาหกรรมล่าสุดที่จะเปิดให้บริการในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเลทองสำหรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย กอปรกับศักยภาพและจุดเด่นของโครงการ จะทำให้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน และสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อนำพาประเทศไทยให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง” นางสาวสมจิณณ์ กล่าวปิดท้าย