โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร – ด่านแม่สาย/เชียงของ (M5) ในระยะเร่งด่วน ตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ล่าสุด กรมทางหลวง ได้เปิดโอกาสให้เอกชนผู้ที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการฯ
คุณอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในการพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนโครงการ โดยโครงการฯ มีระยะทาง 18 กม. มูลค่าโครงการ 39,956 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ งานก่อสร้างโยธา 2.81 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 2.66 หมื่นล้านบาท ค่างานระบบ 1.01 พันล้านบาท ค่าควบคุมงาน 414 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 100 ล้านบาท และงานระบบรวมถึงบริหาร 1.18 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี แบ่งเป็นค่าซ่อมบำรุง 6.13 พันล้านบาท รวมถึงค่างานระบบและบริหาร 5.68 พันล้านบาท โดยเอกชนเป็นผู้ดูแลช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิตบางปะอิน ส่วนด้านรูปแบบโครงการอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเป็นร่วมทุนแบบ PPP Net Cost หรือ PPP Gross Cost โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13%
“หลังจากการเปิด Market Sounding ในครั้งนี้ไปแล้วนั้น จะจัดให้มีการสัมภาษณ์กลุ่มของเอกชนที่สนใจ เพื่อลงรายละเอียดของโครงการอีก 1 ครั้ง จากนั้นจะสรุปผลเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ภายในปลายปี 2562 นี้ หรือต้นปี 2563 ก่อนที่จะเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) พิจารณาอนุมัติหลักการต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนและขายซองเอกสารประกวดราคาได้ในช่วงปลายปี 2563 พร้อมเปิดประมูลภายในต้นปี 2564 และได้ผู้ชนะการประมูลช่วงปลายปี 2564 ก่อนเริ่มต้นก่อสร้างโครงการฯในปี 2565 ซึ่งจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2568”
สำหรับปริมาณจราจรในปีแรกที่เปิดให้บริการนั้น จะมีปริมาณ 2.1 หมื่นคัน/วัน ก่อนเติบโต 150% ในช่วง 15 ปีแรก คิดเป็นเฉลี่ย 5 หมื่นคัน/วันในปี 2583 และเพิ่มเป็น 6.8 หมื่นคันในปี 2597 ส่วนด้านรายได้นั้นคาดว่าในปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 423 ล้านบาท/ปี ก่อนเพิ่มเป็น 1.52 พันล้านบาท/ปี ในปี 2583 คิดเป็นรายได้สะสมรวม 1.23 หมื่นล้านบาทในช่วง 15 ปีแรก หลังจากนั้นในปี 2584-2597 จะมีรายได้สะสมรวม 3.19 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้รายได้สะสมที่ตั้งเป้าตลอด 30 ปี รวมทั้งสิ้น 4.42 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเม็ดเงินลงทุนทั้งโครงการที่ 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนทางการลงทุน(Margin) 10%
อย่างไรก็ตาม โครงการฯ มีจุดเริ่มต้นที่ปลายทางยกระดับอุตราภิมุขปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของถนนพหลโยธิน) จุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+880 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อโดยตรงเข้าสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) รวมระยะทางประมาณ 18 กม. ครอบคลุมพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางปะอิน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โครงการแบ่งขอบเขตการลงทุนออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างโครงการ ภาครัฐ/เอกชนเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ช่วงรังสิต-บางปะอิน และเอกชนติดตั้งงานระบบตลอดทั้งโครงการ โดยครอบคลุมช่วงรังสิต-บางปะอิน และช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต (ซึ่งเปิดให้บริการในปัจจุบัน) โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน
ระยะที่ 2 ดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนเป็น ผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งโครงการตลอดระยะเวลาสัญญา (ครอบคลุมช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต-บางปะอิน) โดยกำหนดกรอบระยะเวลาร่วมทุนไม่เกิน 33 ปี แบ่งเป็นระยะออกแบบและก่อสร้างโครงการ 3 ปี และระยะเวลาดำเนินงานและบำรุงรักษาไม่เกิน 10 – 30 ปี
…นายสะพานโค้ง