นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามที่ ขสมก.ได้ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชันไทยชนะบนรถโดยสารทุกคัน โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทย ตามนโยบายของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ซึ่งปัจจุบัน บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (แบบรายเที่ยว)ไม่มีค่าใช้จ่ายในการออกบัตรแต่อย่างใด ) หรือ ศบค. สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกน เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการบนรถโดยสารก็จะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทันทีว่า ผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวใช้บริการรถโดยสารคันใด และใช้บริการในเวลาใด โดยผู้ใช้บริการอื่น ๆที่ใช้บริการในเวลาเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ จะได้รับ SMS หรือโทรศัพท์แจ้งเตือนว่า มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการ
จึงขอความร่วมมือผู้ใช้บริการที่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน สแกนที่ QR Code แอปพลิเคชันไทยชนะทุกครั้ง เพื่อเช็คอินเมื่อขึ้นรถ และเช็คเอาท์ ก่อนลงจากรถ ซึ่ง ขสมก.ได้ติดตั้ง QR Code ดังกล่าว บริเวณหลังเบาะที่นั่ง และบริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร สำหรับผู้ใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก. ที่ถือบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (แบบรายเที่ยว), บัตรโดยสารล่วงหน้า อิเล็กทรอนิกส์ ทุกประเภท และบัตรโดยสารนักเรียน นักศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว สามารถเช็คอินแอปพลิเคชันไทยชนะ ผ่านการชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด บนเครื่อง EDC ของพนักงานเก็บค่าโดยสารได้ทันที โดยไม่ต้องใช้โทรศัพท์ แบบสมาร์ทโฟน สแกนที่ QR Code แอปพลิเคชันไทยชนะ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ เปลี่ยนมาชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสดผ่านบัตรดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (แบบรายเที่ยว)ไม่มีค่าใช้จ่ายในการออกบัตรแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน และไม่มีบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์หรือบัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังสามารถใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก.ได้ตามปกติ แต่ขอความร่วมมือ ในการปฏิบัติ ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะใช้บริการรถโดยสาร การนั่งและยืนตามจุดที่กำหนด ซึ่งรถโดยสาร 1 คัน จะอนุญาตให้ผู้ใช้บริการยืนได้ไม่เกิน 10 คน กรณีผู้ใช้บริการเต็ม จะต้องรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)