ผู้ว่ารถไฟฯร่วมงานรำลึก 72ปีกองบังคับการตำรวจรถไฟก่อนปิดตำนาน 17 ต.ค.นี้ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 เพื่อแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยงานต่างๆในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป ย้ำที่ผ่านมาตำรวจรถไฟทำหน้าที่อยู่เคียงข้างการให้บริการประชาชน ดูแลรักษาความปลอดภัย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟมาโดยตลอด
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า งานรำลึก 72 ปี กองบังคับการตำรวจรถไฟ ซึ่งเป็นการจัดงานแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจของตำรวจรถไฟฯ เพื่อเป็นการรำลึกถึงกองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) ที่จะยุติการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 และได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายที่มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ
สำหรับจุดเริ่มต้นของ ตำรวจรถไฟ ได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2437 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในชื่อ “กองตระเวนรักษาทางรถไฟ” ต่อมาได้จัดตั้งขึ้นเป็น “กองตำรวจรถไฟ” จนได้รับการเลื่อนสถานะเป็น “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” จนเมื่อมีประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 มีผลให้กองบังคับการตำรวจรถไฟ จะถูกยุบเลิกตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 เพื่อแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
นายนิรุฒ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กองบังคับการตำรวจรถไฟ ทำหน้าที่ร่วมกับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่เคียงข้างในการให้บริการประชาชน ดูแลรักษาความปลอดภัย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสถานีทุกแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังสุดความสามารถด้วยความตั้งใจ สร้างคุณประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างมากมาย อาทิ การจับกุมอาชญากร สกัดกั้นการค้ายาเสพติด การค้าของเถื่อน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบัน “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟและตามสถานีต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ความผูกพันที่เป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกันกับ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” จะยังคงอยู่ในใจของคนรถไฟและประชาชนตลอดไป
ท้ายนี้ การรถไฟฯ พร้อมทั้งผู้บริหาร และพนักงานการรถไฟฯ ทุกคน ขอขอบคุณตำรวจรถไฟทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเข้มแข็งและมีวิริยะอุตสาหะมาตลอดระยะเวลา 72 ปี นับเป็นความผูกพันที่มีมาอย่างยาวนาน หากแต่ในวันสุดท้ายของการเป็นตำรวจรถไฟ ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่ยังอยู่ในตัวตนของพวกเราทุกคนก็คือ ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ปกปัก พิทักษ์ รักษาความสงบสุขเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ