ล่าสุด ณ ห้องประชุมศรีชลวิน โรงแรมพานหิน รีเจ้นท์ ศรีราชา จ.ชลบุรี เรือโทศตวรรษ อนันตกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่ระดับจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามแนวเส้นทางที่ได้รับการคัดเลือกงานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างทางคู่ สายชุมทางศรีราชา – ระยอง และมาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด – คลองใหญ่
เพื่อนำเสนอร่างผลสรุปการศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุมฯ
โครงการรถไฟทางคู่สายชุมทางศรีราชา-ระยอง และมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ เป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ ผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และสิ้นสุดที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด มีสถานีรถไฟทั้งหมด 34 สถานี ระยะทางรวม 333 กิโลเมตรโดยประมาณ สำหรับแนวเส้นทางคัดเลือกโครงการแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ แนวเส้นทางช่วงที่ 1 เส้นทางเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรม สู่นิคมอุตสาหกรรม มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีชุมทางศรีราชา –สถานีระยอง แนวเส้นทางช่วงที่ 2 เส้นทางเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรม สู่พื้นที่ อ.เมืองระยอง มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีมาบตาพุด ถึง อ.เมือง จ.ระยอง และแนวเส้นทางช่วงที่ 3 เส้นทางเชื่อมโยงโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) และการท่องเที่ยว มีจุดเริ่มต้นจาก อ.เมือง จ.ระยอง ผ่านพื้นที่ จ.จันทบุรี และสิ้นสุดที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด และพื้นที่ย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (Container Yard : CY ที่มีความเหมาะสมสำหรับรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ เบื้องต้นกำหนดไว้ 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณใกล้ทางเข้านิคมอมตะซิตี้ระยอง 2.บริเวณ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี 3.บริเวณ อ.เมืองตราด จ.ตราด โดยก่อสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ใกล้กับสถานีเมืองตราดอีก 1 แห่ง
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟมี 6 รูปแบบ ได้แก่ 1.ทางรถไฟยกระดับ 2.ทางลอด 3.สะพานกลับรถ 4.ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ 5.ถนนเชื่อมจุดตัดใกล้เคียง 6.อุโมงค์รถไฟ นอกจากนี้ได้เตรียมมาตรการป้องกันและการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนในบริเวณแนวเส้นทางก่อสร้าง อาทิเช่น การฉีดพรมน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขณะก่อสร้างบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องหมายจราจร ไฟเตือน ป้ายเตือน ตลอดแนวเส้นทางก่อสร้างเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น ส่วนแนวคิดการออกแบบรูปแบบสถานีรถไฟ จะดึงเอกลักษณ์และสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและอากาศในพื้นที่ภาคตะวันออก พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครับสำหรับผู้ใช้บริการ
หากโครงการรถไฟทางคู่สายชุมทางศรีราชา-ระยอง และ มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรางให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบในภาคตะวันออก พร้อมทั้งสอดรับการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และโลจิสติกส์ของอาเซียนต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมครั้งนี้ รฟท.จะรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่ได้รับจากทุกภาคส่วน
มาพิจารณาประกอบผลการศึกษาของโครงการต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ www.doubletracktotrat.com