รฟท.ผงะ!ระเบิดยุคสงครามโลก 7 ลูกตามเส้นทางรถทางคู่สายใต้เฟสแรก (นครปฐม-ชุมพร) เล็งปรับแบบก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำตัวเมืองราชบุรีเป็น “สะพานแขวนไม่มีเสาตอม่อในลำน้ำ”จ่อปิดเมืองราชบุรี-อพยพคนจากพื้นที่รัศมีแรงระเบิด 2 กม. เผย 14 มิ.ย.นี้ นัดหน่วย EOD สามเหล่าทัพไทยถกแนวทางเก็บกู้ระเบิด
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้การว่ารถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่าจากการสำรวจตามเส้นทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ระยะที่ 1 ช่วงนครปฐม-ชุมพรแล้วพบระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุมากกว่า 70 ปีหลายจุด และรฟท.เชื่อมั่นว่าจะค้นพบอีกหลายจุดในการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ระยะที่ 2 ช่วง ชุมพร-สุราษฎร์ธานี-สงขลา โดยเฉพาะในพื้นที่ตามแม่น้ำสำคัญหลายแห่ง ซึ่งเป็นแนวเส้นทางการทิ้งระเบิดตอนที่กองทัพญี่ปุ่นล่าถอยในยุคสงครามโลก
“ตลอดเส้นทางการสำรวจการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 นั้น รฟท.ได้สำรวจพบระเบิดอยู่ 2 จุดคือ ใต้แม่น้ำกลางตัวเมืองราชบุรี จำนวน 7 ลูก และใต้ดิน บริเวณ สถานีเขาเต่า-วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 1 ลูก”
นายวรวุฒิ ระบุอีกว่ารฟท.ต้องมีการปรับแบบการก่อสร้างช่วงที่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำในตัวเมืองราชบุรี โดยจะปรับแบบเป็นสะพานแขวนที่ไม่มีเสาตอม่อในลำน้ำ ถือว่าเป็นสะพานแขวนทางรถไฟแห่งแรกที่จะเกิดขึ้นในประเทศ และจะเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของเมืองราชบุรี คล้ายกับโมเดลของสะพานแขวนพระราม 9 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร
“ส่วนความคืบหน้าในการเก็บกู้ระเบิดทั้ง 7 ลูก ที่ จ.ราชบุรีนั้น จะต้องทำไปพร้อมกันทีเดียว ดังนั้น จึงต้องออกประกาศตามกฎหมายการปกครอง ด้วยคำสั่งปิดพื้นที่กลางใจเมืองราชรี เป็นพื้นที่อันตรายควบคุมความปลอดภัย ควบคู่ไปกับการเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่รัศมีแรงระเบิด หลังจากประชุมร่วมกันแล้วจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและเตรียมตัวต่อไป เนื่องจาก รัศมีระเบิดดังกล่าวค่อนข้างรุนแรงอยู่ที่ประมาณ 2 กม. ซึ่งถือว่าจุดดังกล่าวอยู่ในเขตชุมชนที่มีทั้งค่ายทหาร ตลาดกลางเมือง วัด สถานอนุบาล โรงเรียน บ้านพักข้าราชการและผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนที่อยู่อาศัยของประชาชน”
นายวรวุฒิ ย้ำอีกว่าสัปดาห์หน้าในวันที่ 14 มิ.ย.นี้จะมีการประชุมสรุปแนวทางกับหน่วยเก็บกู้ระเบิด (EOD) ของสามเหล่าทัพไทยคือ กองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ เข้ามาร่วมกันศึกษาแนวทางเก็บกู้ระเบิดดังกล่าว นอกจากนี้ ประเทศไทยจะเชิญนักเก็บกู้ระเบิดที่เก่งสุดในโลกจากประเทศเยอรมัน มาเข้าร่วมทีมเก็บกู้ในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นระเบิดที่ต้องใช้เทคนิคสูงในการกู้เพราะอยู่ใต้น้ำด้วย
“แนวทางการกู้ตอนนี้มี 8 วิธี สำหรับเทคนิคที่เหมาะสมในตอนนี้คือการทำลายสภาพระเบิดใต้ลำน้ำเลย โดยไม่มีการนำขึ้นมาบนบก คาดว่าจะเป็นรูปแบบ water jet ใช้แรงดันน้ำความแรงและความเร็วสูง ตัดตัวระเบิดจากใต้น้ำแยกส่วนหัวและส่วนท้ายที่มีสารเคมีออกจากกัน อย่างไรก็ตามระเบิดเป็นโมเดลที่จุดด้วยเคมี กล่าวคือระเบิดจะทำปฏิกิริยาเมื่อสารเคมีภายในไหลมารวมกันได้ โดยสารเคมีดังกล่าวจะคงสภาพตลอดไปอยู่ในระเบิด นับว่าเป็นการออกแบบระเบิดเทคนิคขั้นสูง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากในการเก็บกู้ เนื่องจากหากตัวระเบิดได้มีการขยับหรือเคลื่อนที่แล้วสารเคมีภายในทำปฏิกิริยาก็จะระเบิดทันที และจะเป็นการระเบิดทั้ง 7 ลูก”
ทั้งนี้ รายงานจากแหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า เบื้องต้นคาดว่าระเบิดยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวน 7 ลูกที่ค้นพบนั้น น่าจะเป็นระเบิดจีพีบอมบ์ หรือระเบิดAN-M65 ขนาดน้ำหนัก 1,000 ปอนด์ หรือ กว่า 400 กก.