TTT ผู้ให้บริการขนส่งยานยนต์รายใหญ่ญี่ปุ่นแบรนด์ “โตโยต้า” ร่วมกับ PANUS ผู้ผลิตรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ระดับแถวหน้าเมืองไทย ร่วมพัฒนารถบรรทุกรถยนต์ Car Carrier รุ่นใหม่ล่าสุดความยาว 24 เมตร สะเทือนวงการขนส่งรถยนต์บรรทุกสูงสุด 8 คัน
บริษัท โตโยต้า ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย)จำกัด (TTT) ถ้าเปรียบเหมือนดั่งสายพานลำเลียงก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นกลไกการขนส่งรถยนต์ให้ถึงมือดีลเลอร์โตโยต้าทั่วประเทศ สำหรับ TTT ให้ความสำคัญเรื่องเวลา เรื่องความปลอดภัยเป็นหลักโดยได้ร่วมมือพัฒนารถบรรทุกรถยนต์ Car Carrier กับทาง บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด (PANUS) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจมายาวนาน โดยบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้เจาะลึกผู้บริหารระดับสูงและบทบาทของ TTT ผู้อยู่เบื้องหลังสายพานลำเลียงสู่เครือข่ายโตโยต้าทั่วประเทศ
คุณเกษม บุญเจริญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด (TTT) เปิดเผยว่า ดำเนินงานด้านการขนส่งให้กับโตโยต้า โดยภาพรวมเมื่อปี 61 เราทำการขนส่งรถโตโยต้าไปยังดีลเลอร์ต่างๆทั่วประเทศ 3.2 แสนคัน ส่วนการขนส่งเพื่อส่งออกประมาณ 3 แสนคัน และประมาณการค่าขนส่งประมาณ 1,400 ล้าน
“เราบริหารงานด้านการขนส่งที่ชูนโยบายการบริหารจัดการต้นทุนการขนส่งและความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะไม่ใช่แค่การโหลดรถขึ้น-ลงแล้วขนส่งไปยังจุดหมายปลายทางเท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงหลายองค์ประกอบรวมกัน ทั้งการขับเคลื่อนแนวนโยบาย พันธกิจ ทรัพยากรบุคคล และวัฒนธรรมองค์กรสู่เป้าหมายคือองค์กรต้องมีศักยภาพและเข้มแข็ง”
คุณเกษม ระบุต่อว่าธุรกิจขนส่งพนักงานขับรถถือว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาใจใส่และมีการพัฒนาบุคคลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ภายในพื้นที่บริษัทฯเรามีศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการขับรถ ตลอดถึงการโหลดรถขึ้น-ลงให้เกิดความชำนาญก่อนจะไปขับจริงภายใต้การควบคุมของอาจารย์และทีมฝึกสอน
“เราทำงานอย่างมีคุณภาพด้วยความปลอดภัย รวมถึงการขับขี่บนท้องถนนที่ชูนโยบายที่คำนึงและใส่ใจถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งขณะที่ควบคุมยานพาหนะบนท้องถนนต้องไม่ทำให้คนอื่นมีอุบัติเหตุ หรือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากเรา เพราะเราคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งผู้ปฏิบัติงาน สินค้าที่เราทำการขนส่ง และผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน โดยพนักงานขับรถทั้งกลุ่มรวมแล้วกว่า 700 คน ซึ่งใน 1 ปีจะมีการหมุนเวียน Re-Training พนักงานขับรถทั้งหมด”
TTT ผนึกกำลัง PANUS ร่วมพัฒนารถบรรทุกรถยนต์ตลอด 15 ปี
คุณเกษม เปิดเผยถึง ที่มาที่ไปของการร่วมมือกันพัฒนาระหว่าง TTT และ PANUS ว่าปัจจุบัน TTT มีรถทั้งหมด 48 คัน แต่เรามีรถร่วมของ 14 พันธมิตรอีก 350 คัน ไม่ว่าจะเป็นรถของเราเองหรือพันธมิตรก็ตาม อันดับแรกต้องมีมาตรฐานเดียวกันตามที่เรากำหนดขึ้น ต้องเป็นยี่ห้อเดียวกันคือของทาง PANUS ภายใต้การบริหารจัดการที่เรามุ่งเน้นถึงความปลอดภัยในทุกๆจุด
“โดยเฉพาะยิ่งการบริหารจัดการ Full Trailer (หัวรถและห่างบรรทุก)ที่มีวิ่งงานขนส่งอยู่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นจาก พัฒนาซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเรากับทาง PANUS มาตั้งแต่ปี 2004 โดยเป็นความร่วมมือกันดีไซน์ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งมีวิศวกรของ TTT จากญี่ปุ่นร่วมควบคุมงานดีไซน์ สิ่งที่เราดีไซน์อย่างแรกต้องยึดตามกรอบกฎหมายกำหนดไว้ ทั้งมิติขนาดความกว้าง สูง และยาวต้องถูกต้องตามกฎหมาย ถัดมาต้องคำนึงการใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ คือทำอย่างไรให้สามารถโหลดรถได้ปริมาณมากที่สุด”
คุณเกษม เล่าต่ออีกเมื่อก่อนเป็น Semi Trailer บรรทุกรถกระบะได้ 6 คัน ต่อมาพัฒนาเป็น Full Trailer บรรทุกได้ 7 คัน ซึ่งเป็นพัฒนาและการบริหารจัดการให้มีต้นทุนการขนส่งถูกลง ที่สำคัญตลอดระยะเวลา 15 ปี แห่งความร่วมมือกับ PANUS ตัว Full Trailer ที่วิ่งอยู่ดีๆบนท้องถนนไม่เคยเกิดอุบัติเหตุสักครั้งเลย
“สะท้อนว่า Full Trailer ที่เกิดจากร่วมมือกันจนตกผลึกเป็นผลงานชิ้นสำคัญนี้ เป็นสินค้าที่ได้ตามคุณภาพและมาตรฐานที่เราตั้งไว้ เพราะแต่ละโมเดลก่อนจะทำการ Mass Production เราต้องใช้เวลา Try Out วิ่งบนทุกสภาพท้องถนนทั่วภูมิภาคของประเทศนานถึง 6 เดือน”
รถบรรทุกรถยนต์ รุ่นใหม่! สะเทือนวงการบรรทุกสูงสุด 8 คัน
ขณะที่ความโดดเด่นของ Full Trailer โมเดลใหม่ล่าสุดนี้ คุณเกษม ระบุว่าถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งจากความร่วมมือพัฒนาโมเดลใหม่นี้มีการ Modify เพิ่มเติมในหลายจุดด้วยกัน แต่ไฮไลท์หลักสามารถบรรทุกรถกระบะได้มากถึง 8 คันจากเดิมได้ 7 คัน หากในอนาคตมีการผลิตรถยนต์ที่มีขนาดเล็กลงก็จะสามารถบรรทุกได้มากถึง 9 -10 คัน
“มิติความยาวของ Full Trailer จากเดิมยาว 21 เมตร ตัวใหม่ยาว 24 เมตร ส่วนความกว้างเพิ่มอีก 50 มิลลิเมตร ส่วนมิติตัวรถบรรทุกเพิ่มความยาว 390 มิลลิเมตร และความกว้างอีก 50 มิลลิเมตร ขณะที่น้ำหนักในมิติตัวรถบรรทุกเพิ่มอีก 180 กิโลกรัม ส่วน Full Trailer เพิ่มอีก 830 กิโลกรัม”
ขณะที่จุดอื่นๆก็จะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มมาเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและลดความเสี่ยงด้านกายภาพของผู้ปฏิบัติงาน เช่น สะพานท้ายแต่เดิมจะทำจากวัสดุอะลูมิเนียมมีหนักมากถึงข้างละ 29 กก.และทำงานด้วยคนอาจจะมีปัญหาด้านกายภาพเวลาเลื่อนเข้า-ออกและยกขึ้น-ลงโดยเฉพาะบริเวณหลังได้หากทำงานนาน 10 ปีขึ้นไป
ทว่าโมเดลใหม่นี้จะเปลี่ยนจากวัสดุอะลูมิเนียมมาเป็นเหล็กแทน แต่ผู้ปฏิบัติงานจะทำงานได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะเปลี่ยนมาเป็นระบบไฮดรอลิคดันหรือสไลด์ออกมาแทน ขณะที่โครงสร้างท้าย( 4 load) เมื่อก่อนทำงานด้วยคน แต่ตัวใหม่จะทำงานด้วยระบบลม( Air Bag)
ส่วนระบบเบรกด้านหน้าเมื่อก่อนจะเป็นมาตรฐาน Air Brake ด้านหลังเป็น Full Air Brake แต่ตัวใหม่นี้ด้านหน้ายังเป็นมาตรฐาน Air Brake ส่วนด้านหลังจะถูกปรับ Full Air Brake +ABS System สร้างความนุ่มนวลและให้ความรู้สึกที่ดีให้กับพนักงานขับรถ อย่างไรก็ดี คุณเกษม สรุปปิดท้ายว่า นับจากนี้ไปภายหลังที่ได้มีการยืนยันและปรับแก้ในจุดที่ต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนทำการ Try Out วิ่งทดสอบไปตามเส้นทางต่างๆทั่วทุกภูมิภาคของประเทศก่อนที่จะมีการใช้งานจริงต่อไป