จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของรัฐบาลที่ออกมานั้น ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ จะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ โดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA ก็ถือเป็นหนึ่งในหน่วยหลักที่จะต้องนำยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวไปปฎิบัติให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์
และในโอกาสที่องค์กร NEDA ครบรอบวันสถาปนา 14 ปี “พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์” ผู้อำนวยการ NEDA จึงได้ประกาศก้องให้โลกรู้ว่า มีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน และมุ่งเน้นที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมแบบไร้รอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
คุณพีรเมศร์ เปิดเผยว่า จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2561-2565) ของรัฐบาลที่กำหนดออกมานั้น ทาง NEDA จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ของ (พ.ศ. 2563-2582) ขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยกำหนดให้มุ่งเน้นการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไร้รอยต่อ การท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลักของการคมนาคมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่ง การกระจายสินค้า การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ผ่านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และโทรคมนาคม ภายใต้ความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของ NEDA
ทั้งนี้ ทาง NEDA ได้ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และทบทวนยุทธศาสตร์ ผลการดำเนินงานของ NEDA ในช่วงปี พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2562 รวมทั้งข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ NEDA และศึกษา วิเคราะห์ ทิศทางการพัฒนาในระดับนานาชาติ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี ของ NEDA (พ.ศ.2563 – 2582) รวมทั้งศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ รูปแบบการดำเนินงานและพัฒนาการด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาขององค์กรให้ความช่วยเหลือทางการเงินในภูมิภาคเอเชีย และจัดทำร่างยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2563 – 2582) โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน พ.ศ.2562
อย่างไรก็ดี ทาง NEDA ได้จัดทำแผนโครงการเชิงรุกกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา) เพื่อจัดทำรายชื่อโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยกำหนดพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือกับประเทศเพื่อนบ้านให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ ทั้งนี้ NEDA ได้หารือกับจังหวัดต่างๆ ที่มีพรมแดนเชื่อมโยงกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา เพื่อรับฟังความเห็น ความต้องการ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งที่คาดว่าจะเกิดประโยชน์กับจังหวัดชายแดนนั้นๆ ในแง่ของการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน การอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ และการขนส่งสินค้าผ่านจุดผ่านแดนถาวรต่างๆ โดยยึดหลักการมีผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
“NEDA ได้ดำเนินการหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพิจารณารายชื่อโครงการดังกล่าว และเมื่อรายชื่อโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 ฝ่าย จะนำรายชื่อโครงการดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนโครงการที่เป็นไปได้ (Potential List) ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้านในระยะ 5 ปี ข้างหน้าต่อไป”
ผู้อำนวยการ NEDA กล่าวถึงความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านวิชาการแก่กลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขงในการผลักดันโครงการต่างๆ ว่า NEDA ได้ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน แบ่งเป็น ความช่วยเหลือด้านการเงิน ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชรแขวงหลวงพระบาง) สปป.ลาว วงเงิน1,977 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟสายท่านาแล้ง- เวียงจันทน์ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 วงเงิน 1,650 ล้านบาท 3.โครงการพัฒนาถนนหมายเลข11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ-บ้านโนนสะหวัน-สานะคาม-บ้านวัง-บ้านน้ำสังข์สปป.ลาว วงเงิน1,826 ล้านบาท 4.โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) สปป.ลาววงเงิน 1,380 ล้านบาท 5.โครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบทและถนนเชื่อมโยงไปยังถนนหมายเลข 5 ราชอาณาจักรกัมพูชาวงเงิน 928 ล้านบาท
สำหรับความช่วยเหลือทางด้านวิชาการนั้น ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาเส้นทางหมายเลข12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก- จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป.ลาว คิดเป็นวงเงิน 18 ล้านบาท 2.โครงการปรับปรุงถนน 2 เลน เชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย-เมียนมา วงเงิน 4,500 ล้านบาท 3.โครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 ช่วงเสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงำราชอาณาจักรกัมพูชา วงเงิน 13.8 ล้านบาท
…นายสะพานโค้ง