ตลาดรถบรรทุกแดนปลาดิบปีนี้ท่าจะดีขึ้นคงไม่กร่อยเหมือนปีที่ผ่านมา รวมถึงการเลือกตั้งอลเวงก็แล้วเสร็จ ส่วนประชาชนดีใจกันน้ำตานองหน้าลุ้นกันตัวโก่งนิ้วเกร็งว่าหวยจะออกที่ใคร ส่วนสภาพเศรษฐกิจก็รอความหวังกันต่อไป แต่สำหรับวงการรถใหญ่ก็เตรียมความพร้อมกันแต่เนิ่นเตรียมสู้ศึกกันคึกคัก ทางด้านค่ายแดนปลาดิบอย่าง ยูดี ทรัคส์ ก็เปิดตัว “เควสเตอร์” รุ่นใหม่ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่าน
กระแสตอบรับดีเยี่ยมแถมเปิดทดสอบกันในงานเปิดตัวที่สนามแก่งกระจานไปพร้อมกันกับเปิดตัวผู้บริหารใหม่ป้ายแดงแจ๋ มร.เอริค ลาบัท ประธานกรรมการ บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถบรรทุกวอลโว่และยูดี ทรัคส์ พบสื่อครั้งแรกพร้อมกล่าวว่า “การเป็นเบอร์รองไม่ใช่ที่ผมนึกไว้” ปูเสื่อรอชมการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ที่ วอลโว่ กรุ๊ปฯ พร้อมสู้ศึกตลาดรถใหญ่ในไทยอีกครั้ง
ทางด้านการเปิดตัวเควสเตอร์รุ่นใหม่นั้นจากการที่ได้ทดสอบไปเมื่อครั้งก่อนที่สนามแก่งกระจานการเปลี่ยนแปลงที่อยากจะกล่าวถึงคือระบบเกียร์รุ่นใหม่ที่อยู่ในรุ่นใหญ่เครื่องยนต์ GH11E ขนาด 11 ลิตร 370 และ 390 แรงม้า ระบบเกียร์กึ่งอัตโนมัติรุ่นใหม่นามว่า “ESCOT” ที่จะช่วยเรื่องการประหยัดเชื้อเพลิงได้เพิ่มมากขึ้นและมีความเร็วในการเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ต้นตระกูลของเกียร์ ESCOT
ถ้าว่ากันด้วยเรื่องการพัฒนาระบบเกียร์อัตโนมัติที่ใช้ชื่อว่า “ESCOT” ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกรู้จักระบบเกียร์สูตรสำเร็จของค่าย ยูดี ทรัคส์ เนื่องจากมีการพัฒนามาตั้งแต่ปีมะโว้ 1995 โดยถูกติดตั้งและใช้งานครั้งแรกในรถบรรทุกรุ่นใหญ่ที่บ้านเกิดในประเทศญี่ปุ่นรุ่น “BIG THUMB” โดยก่อนหน้าที่จะเริ่มมาเป็นเกียร์อัจฉริยะต้องเริ่มจาก ESCOT-I ซึ่งต้องเหยียบคลัทช์เพื่อเปลี่ยนเกียร์ จนถูกพัฒนาอย่างเข้มข้นจนมาเป็นรุ่น ESCOT-II ซึ่งถือว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของระบบเกียร์รถบรรทุกแบบกึ่งอัตโนมัติที่หายากในช่วงนั้นซึ่งไม่ต้องยุ่งยากในการเหยียบคลัทช์เพื่อเปลี่ยนเกียร์ และในปีถัดมา 1998 ยูดี ทรัคส์ พัฒนาระบบเครื่องยนต์ GE13 ที่มีแรงม้า 440 แรงม้า ที่มีกำลังมากที่สุดเครื่องแรกในญี่ปุ่นในรถบรรทุกรุ่น “BIG THUMB”
ต่อมาก็ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาเป็น ESCOT-III พัฒนาการทำงานให้เป็นรูปแบบของเกียร์อัตโนมัติมากขึ้นคือสามารถเข้าเกียร์แรกและระบบเกียร์จะปรับเปลี่ยนเองอัตโนมัติหรือสามารถเปลี่ยนสลับเป็นเกียร์แมนนวลได้อีกด้วยโดยใช้คันเกียร์แบบซีเควนเชี่ยล ในปี 1998 ซึ่งถือว่าการพัฒนาพัฒนาระบบเกียร์ในช่วงสามรุ่นนี้คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และเป็นต้นตระกูลของ ESCOT เลยก็ว่าได้
การทำงานของระบบเกียร์ ESCOT
ต้องบอกก่อนว่า ESCOT เป็นระบบเกียร์กึ่งอัตโนมัติ 12 สปีด ซึ่งหมายความว่าผู้ขับก็สามารถสับเปลี่ยนเกียร์ได้เองเช่นกัน สำหรับการทำงานโดยใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยเรื่องการสับเปลี่ยนเกียร์ให้เหมาะสมตามรอบเครื่องยนต์ ความเร็ว น้ำหนักบรรทุก และความลาดชันของเส้นทาง ซึ่งมีลักษณะเป็นชุดเกียร์ธรรมดาแต่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมระบบนิวเมติกส์ หรือกำลังอัดอากาศเพื่อสั่งงานระบบเกียร์กับคลัตซ์อัตโนมัติ ทำให้การเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างนุ่มนวล
ประหยัดน้ำมันด้วยการเปลี่ยนเกียร์ที่รวดเร็วและเหมาะสม
ซึ่งระบบอัจฉริยะยังนี้มีเซ็นเซอร์ที่ช่วยทำงานเลือกเกียร์ให้เหมาะสมกับสภาพถนนต่าง ๆ โดยอัตโนมัติจากกล่องควบคุมการทำงานสื่อสารกับเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับรอบและแรงเบรกเครื่องยนต์ ทำให้การเปลี่ยนทุกครั้งรวดเร็วและประหยัดน้ำมัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เกียร์แรกเสมอไปในการออกตัว ทำให้พนักงานขับรถไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์เอง 1,000 ถึง 1,500 ครั้งต่อวัน การเลือกเกียร์ให้โดยอัตโนมัติยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าพนักงานขับรถเควสเตอร์ใหม่ทุกคนจะกลายเป็นนักขับที่มีทักษะสูงและสามารถควบคุมเควสเตอร์ใหม่ได้อย่างง่ายดายและมีสมาธิเต็มที่ไปกับการขับขี่ และที่สำคัญสามารถประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงสุด 10% จากรุ่นเก่า นอกจากนี้คลัตช์ของเกียร์กึ่งอัตโนมัติ ESCOT มีอายุใช้งานนานขึ้นถึง 2.5 – 3 เท่าเมื่อเทียบกับ คลัตช์ในระบบเกียร์ธรรมดา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งาน พฤติกรรมการขับขี่และการบำรุงรักษาด้วย
สำหรับระบบเกียร์ ESCOT รุ่นแรกนั้นมีการพัฒนาและใช้งานที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1995 โดยจุดประสงค์หลักของการพัฒนาคือการช่วยเรื่องความเหนื่อยล้าของพนักงานขับรถบรรทุกที่เมื่อก่อนเป็นเกียร์ธรรมดาที่จะต้องใช้งานคลัตซ์ในการสับเปลี่ยนเกียร์อยู่ตลอดเวลาซึ่งข้อเสียของเกียร์ธรรมดาพนักงานขับรถที่ไม่เชี่ยวชาญก็อาจเกิดการใช้น้ำมันที่เปลืองเกิดขึ้น ทำให้การพัฒนาเกียร์ ESCOT จึงเข้ามาลดบทบาทเรื่องการใช้เชื้อเพลิงที่ประหยัดขึ้นและทำให้พนักงานขับไม่เหนื่อยล้าจากการขับมากเกินไป ส่งผลให้กิจการขนส่งเกิดต้นทุนที่ต่ำกำไรมากขึ้นอีกด้วย
โดยรถบรรทุกรุ่นใหม่นั้นระบบเกียร์ธรรมดาอาจจะดูยุ่งยากไปแล้ว อย่างระบบเกียร์ธรรมดาแบบสองห้องที่แบ่งเป็น HI-LOW อาจจะทำให้การขับบนถนนที่มีความชันค่อนข้างลำบากสำหรับมือใหม่ที่จะต้องเปลี่ยนเปลี่ยนเกียร์ถี่ อาจจะทำให้รถดับได้และการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงก็จะสูงแต่สำหรับรถบรรทุกรุ่นใหม่หลายค่ายต่างพัฒนาเกียร์กึ่งอัตโนมัติพร้อมเทคโนโลยีที่ทำงานพร้อมกับเครื่องยนต์จึงทำให้หมดปัญหาเรื่องการเปลี่ยนเกียร์และสามารถคำนวนรอบเครื่องยนต์เลือกใช้เกียร์ตามความเหมาะสมได้และที่สำคัญประหยัดน้ำมันมากกว่า