ในช่วงที่เกิดวิกฤตค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หลายๆ หน่วยงานของภาครัฐ ได้โยน “ตราบาป” ให้กลุ่มขนส่งมาแล้ว ด้วยการตั้งด่านสกัดตรวจวัดควันดำรถใหญ่ ส่งผลให้รถใหญ่หลายๆ คันถูกฉีกพ่น “ห้ามใช้” และปรับคันละ 5,000 บาทถ้วน
ทั้งผู้ประกอบการ และเจ้าของรถใหญ่ส่วนบุคคล ต่างต้องนอนเท้าก่ายหน้าผาก เพราะไม่สามารถทำการขนส่งได้ถ้าหากไม่หาวิธีปรับลดค่าควันดำได้ตามมาตรฐาน ส่งผลให้ชาวขนส่งหลายรายขาดรายได้ และไม่มีเงินมีทองมาหล่อเลี้ยงครอบครัว
บางรายมีความพยายามดิ้นรถ โดยการไปกู้หนี้ยืมสินมาก่อน เพื่อหาวิธีให้รถใหญ่พ้นมลทินให้ได้ เพื่อที่จะออกวิ่งรถหาเงินมาจุนเจือครอบครัว และจ่ายค่างวดรถให้ได้ต่อไป
แม้ว่าปัจจุบันค่าฝุ่น PM 2.5 จะลดลงบางแล้ว แต่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ก็ยังไม่หยุดหย่อนที่จะตั้งด่านสกัดตรวจวัดควันดำรถใหญ่ เพราะในเวลาเพียงไม่กี่เดือนก็สามารถตรวจจับรถใหญ่ควันดำแล้วร่วมพันคัน และสามารถปรับเงินเข้ารัฐได้จำนวนหลายล้านบาท
ล่าสุด ค่าฝุ่น PM 2.5 ได้กระจายไปทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 9 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และอุตรดิตถ์ ที่เจอปัญหาหมอกควันปกคลุมไปทั่ว ดังนั้น กรมการขนส่งฯ จึงวางมาตรการเข้มงวดตรวจจับควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่ดังกล่าว
“กมล บูรณพงศ์” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และปัญหาหมอกควันปกคลุมพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และอุตรดิตถ์ กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือบูรณาการการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเต็มกำลัง
โดยในส่วนของกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานขนส่งจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการสุ่มตรวจและควบคุมรถโดยสารและรถบรรทุกที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐาน โดยใช้เกณฑ์การตรวจควันดำต้องไม่เกินร้อยละ 45 หากเกินดำเนินการเปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท พ่น “ห้ามใช้” โดยจะไม่สามารถใช้งานรถได้จนกว่าจะแก้ไขเรียบร้อยและนำรถเข้าตรวจสภาพที่สำนักงานขนส่ง
ส่วนรถที่มีค่าควันดำระหว่างร้อยละ 30-45 ให้ออกใบเตือนเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขให้ค่าควันดำลดลง และขอความร่วมมือองค์กรด้านการขนส่ง ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกและรถโดยสาร รวมถึงประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เช่น การขับรถโดยใช้ความเร็วที่เหมาะสม เปิดไฟหน้ารถเมื่อต้องขับขี่ในพื้นที่ที่มีทัศนวิสัยต่ำจากหมอกควัน เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น ลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ พร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 9 จังหวัด ร่วมประชาสัมพันธ์มาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน จนกว่าสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และหมอกควันจะคลี่คลาย
“หากประชาชนพบรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะควันดำ สามารถบันทึกภาพและรายละเอียดหมายเลขทะเบียนรถที่ชัดเจน แจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน โทร.1584 ตลอด 24 ชั่วโมง หากผลการตรวจสอบพบว่ารถมีควันดำตามที่ผู้ร้องเรียนได้แจ้งมาจริงจะถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที”
ทีมข่าว TRANS TIME ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นกลุ่มรถใหญ่ที่โดนตรวจวัดควันดำ สรุปใจความได้ว่า กลุ่มรถใหญ่ไม่ใช่ผู้ร้าย ไม่ใช่ผู้ที่ก่อค่าฝุ่น PM 2.5 พอเกิดเหตุทุกฝ่ายจะโยนความผิดและตราบบาปให้กลุ่มรถใหญ่ทันที จึงอยากจะถามว่า ถ้ากลุ่มรถใหญ่ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ระบบโลจิสติกส์ของประเทศอาจจะล่มได้ เพราะจะไม่มีสินค้าไปส่งตามสถานที่ต่างๆ
และถ้าหากบอกว่ากลุ่มรถใหญ่เป็นผู้ผิด ทำไมภาครัฐไม่สนับสนุนรถบรรทุกไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า เพราะปัจจุบันแค่รถยูโร 5 หรือ 6 ยังไม่สามารถสนับสนุนได้ ที่สำคัญยังมาคอยตรวจจับรถใหญ่และปรับเงินในทุกๆ วัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุสุดๆ โดยที่ไม่มองลงไปที่ต้นเหตุเลย
…มุมมืด