คณะกรรมการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เคาะชง ครม.กู้ 2 หมื่นล้าน อุ้มดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร เสริมสภาพคล่องกองทุนฯ ปัดข่าวส่งเงินเข้ารัฐกว่า 2 หมื่นล้านบาท ยันใช้เงินตามข้อกฎหมาย ด้าน สหพันธ์ขนส่งฯ เตรียมร้องนายกฯ ตรึงราคา 25 บาท พร้อมยกระดับชุมนุม 16 พ.ย.นี้
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ครั้งที่ 9/2564 วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเนื้อหาและสาระสำคัญร่างหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินตามที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเสนอ เพื่อเตรียมพร้อมสภาพคล่องในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร และได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจัดทำหลักเกณฑ์การกู้เงินตามกรอบของพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะนำเสนอร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ โดยคาดว่าจะเสนอได้ภายในเดือนนี้
“การกู้เงินดังกล่าวเพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2564 ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเสนอร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินดังกล่าวต่อที่ประชุม ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป ขณะที่ตอนนี้ฐานะสุทธิกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือประมาณ 7,000 ล้านบาท คาดว่าจะดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรได้ถึงสิ้นปีนี้ เราจึงต้องกู้เงินไปสำรองไว้ก่อน เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท เนื่องจากน้ำมันดีเซล เป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจหากปล่อยให้มีราคาสูงเกินไปจะกระทบต่อผู้ประกอบการ ค่าขนส่ง ค่าสินค้าและบริการต่างๆ”
อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานจะควบคุมการใช้เงินกู้อย่างเข้มงวด และเป็นไปตามข้อกฎหมาย ส่วนจะเริ่มกู้เมื่อไร ตามขั้นตอนต้องรอให้ ครม.อนุมัติ หลังจากก็เป็นไปตามเงื่อนไขการกู้เงินของกระทรวงการคลัง ซึ่งเงินที่กู้มาจะใช้เท่าไรยังไม่สามารถระบุได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความจำเป็น อาจใช้ไม่ถึงก็ได้ แต่ต้องกู้มาไว้เสริมสภาพคล่องไว้ก่อน และในกรณีที่มีกระแสข่าวว่าที่ผ่านมาได้มีการโอนเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลกว่า 20,000 ล้านบาทนั้น ได้ตรวจสอบกับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว พบว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
“ตั้งแต่ตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมา ยังไม่เคยนำเงินกองทุนฯ เข้านำส่งเป็นรายได้กระทรวงการคลัง พร้อมยืนยันว่าการบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ อย่างเคร่งครัด และเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยที่ผ่านมาได้ใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน บรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรในขณะนี้ และการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีครัวเรือน ตลอดทั้งปี 2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19”
ด้าน นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้าที่ให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 25 บาทเป็นเวลา 1 ปี ที่ยังไม่ได้รับการพิจารณานั้น แม้จะยื่นข้อเสนอ ผ่านกระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคมไปแล้ว ก็ยังไม่มีทิศทางตอบรับข้อเรียกร้องนี้ ดังนั้น ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ ทาง สหพันธ์ฯ จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีอำนาจในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศ เพื่อให้พิจารณาข้อเท็จจริง ที่ผู้ประกอบการเคยนำเสนอ โดยเฉพาะการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 เป็นเรื่องที่ทำได้จริง และจำเป็นในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้
นอกจากนี้ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เตรียมยกระดับการชุมนุมกดดันรัฐบาล ให้ตรึงราคาดีเซลที่ลิตรละ 25 บาท ด้วยการจัดกิจกรรม “Truck Power” ภาค 2 ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ โดยจะนำรถมาชุมนุมใหญ่เพิ่มขึ้น จากครั้งแรกที่มีจำนวน 1,000 คัน เป็น 3,000 คัน และจะชุมนุม 5 ทิศทางล้อมกรุง และครั้งนี้จะวิ่งผ่าเข้าเมือง นอกเวลาเร่งด่วน โดยมีกิจกรรมปล่อยรถ วิ่งขึ้นทางด่วน จากทิศทางต่างๆ นอกจากการจัดกิจกรรมแล้ว เตรียมจะเข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และพรรคฝ่ายค้าน เพื่อเป็นการกดดันรัฐบาลเพิ่มขึ้นด้วย