นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดงานประชุมและเสวนา “แผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียนและการพัฒนามาตรฐานระบบรางเพื่อใช้งานร่วมกัน”
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดและเป็นองค์ปาฐากถาพิเศษงานประชุมและเสวนา “แผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียนและการพัฒนามาตรฐานระบบรางเพื่อใช้งานร่วมกัน” (ASEAN Rail Modernization and Standardization Forum 2018) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี
งานประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก ในด้านแผนการพัฒนาและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของแต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือด้านระบบรางในภูมิภาค ที่สร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของประชาคมอาเซียนต่อไปในอนาคต
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนการพัฒนาโครงข่ายระบบราง โดยอยู่ในแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ประกอบด้วย
1. การพัฒนาโครงข่ายระบบรางในเมือง กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการเคลื่อนไหว (High Accessibility and Mobility) ส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยระบบราง ที่สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และปลอดภัย ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวนหลายสาย และอนาคตภายในปี 2565 กรุงเทพมหานครจะมีรถไฟฟ้าจำนวน 434 กิโลเมตร จากเป้าหมายทั้งหมด 10 เส้นทาง ระยะทาง 464 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครในปี 2566
2. การพัฒนาโครงข่ายระบบรางระหว่างเมือง นอกเหนือจากการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะภายในเมืองแล้ว กระทรวงคมนาคมยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองประกอบด้วย
2.1 โครงการรถไฟทางคู่ จากเดิมโครงสร้างทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นทางรถไฟแบบทางเดียว เมื่อมีรถไฟสวนกันจำเป็นต้องมีการสับหลีกรางเพื่อรอให้รถไฟอีกขบวนผ่านไปก่อน ซึ่งจะทำให้เสียเวลาในการเดินทาง ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนทางรถไฟให้เป็นรถไฟทางคู่ในหลายเส้นทาง ภายในปี 2565 ประเทศไทยจะมีรถไฟทางคู่กว่า 3,514 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้การเดินทางโดยระบบขนส่งทางรางมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และช่วยลดระยะเวลาเดินทางลง
2.2 โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นอีกโครงการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และได้เร่งรัดการดำเนินการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ 2 เส้นทาง คือ สายเหนือ ช่วงกรุงเทพ- นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ – ระยอง ซึ่งจะเชื่อม 3 สนามบินหลัก (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร ทั้งสองเส้นทางจะเปิดให้บริการในปี 2566
2.3 สถานีกลางบางซื่อ ในอนาคตเมื่อโครงการขนส่งทางรางต่างๆ ทั้งโครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูงก่อสร้างแล้วเสร็จ สถานีรถไฟกรุงเทพหรือสถานีรถไฟหัวลำโพงจะมีพื้นที่ไม่เพียงพอในการรองรับปริมาณการเดินทางดังกล่าว จำเป็นต้องมีการก่อสร้างสถานีแห่งใหม่บริเวณบางซื่อ ซึ่งสถานีกลางบางซื่อจะเป็นจุดศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่ในอนาคต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2563
ทั้งนี้ การดำเนินงานและเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมขนส่งของไทยมีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Safe Transport) และเป็นระบบคมนาคมขนส่งที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusive Transport) และเป็นการพัฒนาระบบขนส่งอย่างบูรณาการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน