“บีเอส เอ็กซ์เพรส”เผยเทรนด์การเปลี่ยนแปลงสมรภูมิอี-คอมเมิร์ซไทย ส่งผลกระทบผู้ให้บริการขนส่ง-โลจิสติกส์ทั้งกระดาน ชี้รายผูกงานกับยักษ์มาร์เก็ตเพลสยังสดใสกำไรอื้อ ส่วนรายที่ไม่ผูกยังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ ย้ำต้องปรับตัวสู้ศึกเพื่อความอยู่รอดทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ ลั่นบีเอส เอ็กซ์เพรสยังเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกลยุทธ์ลีน(Lean)สู้ศึกปีมังกร คาดหวังครึ่งปีหลังดีขึ้นหากแบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเปิดทางระดมทุนสร้างการเติบโต
ดร.ชุมพล สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเอส เอ็กซ์เพรส 2020 จำกัด เปิดเผยว่าส่วนตัวแล้วมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 67น่าจะมีอัตราการเติบโตดีกว่าปี 66 ซึ่งปัจจัยเร่งที่มีส่วนสำคัญอย่างมากคือแรงบวกจากผลที่คาดแบงก์ชาติจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะช่วยให้เกิดสภาพคล่อง กำลังซื้อในภาคส่วนต่างๆ การค้าการลงทุน ตลอดถึงการดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจต่างๆก็จะกลับมาคึกคักมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สำหรับภาคธุรกิจโลจิสติก์เป็นพื้นฐานเศรษฐกิจเมื่อเศรษฐกิจดีก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วยเช่นกัน
“หากเจาะลงภาคธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่าเทรนด์การแข่งขันได้เปลี่ยนรูปแบบไปค่อนข้างมาก ซึ่งในแง่แพลตฟอร์มขายสินค้าในเวทีการแข่งขันเวลานี้เหลือเพียง 2 ยักษ์ใหญ่เท่านั้น คือ Lazada และ Shopee ที่เริ่มมีการปรับค่าธรรมเนียมและบริการต่างๆขึ้น ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มีต้นทุนในการใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับช่วงนี้การทำตลาดผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียไม่ค่อยคล่องตัวมากนัก เพราะมีการปิดกั้นหากต้องการเปิดการมองเห็นที่มากขึ้นก็ต้องใช้ต้นทุนในการโฆษณา”
ดร.ชุมพล ระบุอีกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการด้านการขนส่ง-โลจิสติกส์รายไหนที่ผูกงานไว้กับมาร์เก็ตเพลสใหญ่ก็จะอยู่ได้และมีกำไรเติบโตเป็นกอบเป็นกำ อย่างเช่น J&T Express, Lazada Express, shopee express เป็นต้น ส่วนรายอื่นๆเช่น Kerry Express,Flash Express เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ผูกงานไว้กับมาร์เกตเพลสหากย้อนไปดูผลประกอบการล่าสุดของปีที่แล้วล้วนประสบปัญหาการขาดทุน มุมมองส่วนตัวในแง่การปรับตัวรองรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงการแข่งขันนี้ รายเล็กก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับตลาดเฉพาะพร้อมควบคุมต้นทุนให้สมดุล ส่วนขนาดกลางต้องปรับตัวลดขนาดธุรกิจและเลือกเฉพาะลูกค้าที่แข่งขันได้พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้เหมาะกับค่าใช้จ่าย
“ส่วนรายใหญ่ต้องขยายธุรกิจให้เป็นแบบ Ecosystem คือระบบนิเวศทางธุรกิจช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมเปิดกว้างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมเปิดรับมุมมองใหม่ๆ เน้นการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย และส่งเสริมความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นจะทำให้ได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่แท้จริง”
สำหรับผลประกอบการปีที่ผ่านมาของบีเอส เอ็กซ์เพรสนั้น ดร.ชุมพล ระบุว่าภาพรวมถือว่ายังพอประคองตัวไปได้อีกหนึ่งปี สำหรับปีนี้เราพยายามปรับใช้กลยุทธ์ลีน(Lean)คือการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการให้กับลูกค้าโดยไม่ลดทอนคุณภาพ การปรับการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการลดกระบวนการทำงานที่ไม่สร้างมูลค่า พร้อมความสามารถในการปรับตัวเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าระดมทุนจากนักลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องสู่การเติบโตอย่างมีทิศทาง
“ช่วงครึ่งปีแรกเราจะขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการบริหารจัดการแบบลีน(Lean)ให้มีประสิทธิภาพสอดรับเทรนด์การแข่งขันและสภาพเศรษฐกิจ ส่วนครึ่งปีหลังหากแบงก์ชาติมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็จะทำให้เราดีขึ้นใน 2 ลักษณะ อย่างแรกรายได้จากการให้บริการก็จะเติบโตขึ้นจากงานที่จะมีมากขึ้น ลักษณะที่สองเมื่อตลาดการเงินกลับมาสะดวกมากขึ้นก็จะหนุนให้เราระดมทุนได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายด้านการเงินกับสถานการณ์ที่เรากำลังจะเปิดอีกหลายบริษัทตามมา”
ดร.ชุมพล ย้ำปิดท้ายว่าขณะที่การผสานความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจขนส่งต่างๆเรายังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นต่อไป เพราะเราถือว่าเมื่อเราทำแพลตฟอร์มตลาดกลางขนส่งและเข้าสู่โลกออนไลน์เต็มตัวแล้วเราก็ไม่ลืมที่จะดึงเพื่อนๆเข้ามามีตัวตนในโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งตัวเราเองและพันธมิตร