เป็นข่าวใหญ่(9พ.ค.65)เต็มหน้าสื่อช็อคยุทธจักรรถทัวร์เมืองไทยหลังเจ้าแม่แห่งวงการอย่าง“เจ๊เกียว-สุจินดา เชิดชัย”นายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมโดยสาร บขส. และเจ้าของอู่เชิดชัย และบริษัทเดินรถเชิดชัยทัวร์ ยอมยกธงขาว-ประกาศขายกิจการรถทัวร์ “เชิดชัยทัวร์”ที่เคยสร้างชื่อ-อาณาจักรธุรกิจของเจ๊ พร้อมปิดตำนาน 65ปีที่เคยโลดแล่นในวงการนี้
จากคำต่อคำที่เจ๊แกหล่นผ่านการสัมภาษณ์สื่อพอที่จะขมวดออกมาเป็น 4 ปัจจัยหลักที่บ่งชี้ว่าแกยอมธงขาวบนเหตุที่ว่า“แบกต้นทุนไม่ไหว-ขาดทุนยับ”และได้ตัดสินใจประกาศขายกิจการ-โบกมือลาวงการนี้แล้วขอใช้เวลาลุยธุรกิจอื่นๆบนวัย 85 ปี
1.วิกฤติไวรัสมฤตยูโควิด-19 พ่นพิษ
หากจะบอกว่าวิกฤติไวรัสมฤตยูโควิด-19 เป็นคลื่นสึนามิลูกแรกที่ถาโถมใส่ธุรกิจของเจ๊เกียวก็ไม่ใช่ เพราะแท้จริงแล้วก่อนหน้าที่เจ้าไวรัสมหาประลัยโควิด-19 จะเขย่าขวัญโลก วงการรถทัวร์โดยสารเมืองไทยก็เริ่มออกอาการร่อแร่ 3 วันดี 4 วันไข้มาก่อนหน้านี้แล้ว ทว่า ยิ่งมาผสมโรงวิกฤติโควิด-19ที่พ่นพิษถึง3ขวบปีก็ยิ่งกระทืบซ้ำวงล้อธุรกิจรถทัวร์ให้“หายใจรวยริน”หนักกว่าเดิม
ทั้งจากการประกาศล็อคดาวน์ห้ามเดินทางทั่วประเทศในรอบแรก ต่อมาแม้จะผ่อนคลายมาตรการลงแต่ก็ยังคุมเข้มการเว้นระยะห่างทางสังคม ผู้ประกอบการลดเที่ยววิ่งลง ขณะที่รถทัวร์ 1 เที่ยวไม่สามารถบรรจุที่นั่งผู้โดยสารได้เต็ม 100 % เพราะต้องเว้นระยะห่างที่นั่ง ประกอบกับผู้โดยสารเดินทางลดน้อยลง อีกทั้งประชาชนคนเดินทางยังยอมไปซื้อความสะดวก-สบายใจด้วยทางเลือกการเดินทางในโหมดอื่นๆทั้งรถไฟ รถยนต์ส่วนตัว และเครื่องบิน
สุดท้ายแล้ว การเดินทางด้วย”รถทัวร์”ดูจะไม่ต่างอะไรกับลูกเมียน้อยเป็นเลือกท้ายๆของผู้คน!
2.พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไปตามกาลเทรนด์-กาลเวลา
และนี่คืออีก 1 คลื่นสึนามิที่เริ่มซัดถล่มวงการรถทัวร์มาก่อนหน้าวิกฤติโควิด-19 จะมาเยือนซะอีก เพราะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปพฤติกรรมการเดินทางประชาชนก็เปลี่ยนแปลงไป มาถึงยุคหนึ่งการเดินทางด้วยรถทัวร์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการและไม่เป็นที่นิยมของประชาชนแล้ว อาจจะด้วยเหตุผลที่มีทางเลือกมากกว่าเดิม หรืออาจจะมองถึงรถทัวร์ไม่มีการยกระดับการพัฒนาทั้งสภาพเก่าๆบริการแย่ๆสภาพแออัดเดิมๆระยะเวลาการเดินทาง และความปลอดภัย
หากพวกเขามีกำลังทรัพย์และมีทางเลือกซื้อความสะดวกสบายที่มากกว่านี้ทั้งเดินทางรถยนต์ส่วนตัวที่นับวันยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นท่ามกลางอุปสงค์อุปทานของผู้คนที่แห่ออกรถยนต์ใหม่หวังตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการตัวเอง ไม่ว่าจะเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้หรือไกลในยามเดินปกติ หรือเทศกาลสำคัญก็ตาม แม้จะเผชิญกับสภาพรถติดวินาศสันตะโรขนาดไหนก็ยิ่งดีกว่าไปทนนั่งรถทัวร์ในสภาพที่พวกเขาไม่พึงประสงค์
3.สายการบินโลว์คอส์ตผุดขึ้นยังกะดอกเห็ด
นี่คืออีก 1 คลื่นสึนามิที่ซัดถล่มวงการรถโดยสารร่วมบขส.ออกอาการเป๋มาก่อนหน้านี้ ด้วยการเกิดขึ้นสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-Cost Airlines)ในหลากหลายเส้นทางบินทั่วทุกภูมิภาคประเทศยังกะดอกเห็ด มีการแข่งขันสูงด้วยโปรโมชั่น-ราคาที่ถูกแสนถูกที่ใครๆอยากบินก็บินได้ หนุนทางเลือกผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพียงแค่เพิ่มค่าโดยสารไม่มากนักก็ได้ขึ้นเครื่องบินได้แล้ว จึงไม่แปลกที่เจ๊เกียวแกจะบอกว่านี่คืออีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คน“เลิกขึ้นรถทัวร์”เพราะค่าโดยสารไม่ต่างกันมากแต่ใช้เวลาเดินทางเร็วกว่า
4.น้ำมันแพงกระทบต้นทุน-ขาดทุนยับ
สุดท้ายแล้วคงหนีไม่พ้นวิกฤติพลังงานโลกที่เล่นงานประชาชนคนไทยจนหายใจไม่ทั่วท้องในเวลานี้ ด้วยน้ำมันคือต้นทุนหลักภาคธุรกิจขนส่ง เมื่อน้ำมันแพงขึ้นแต่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแล้ว แล้วจะเอากำไรจากไหนมาบริหารจัดการค่าใช้จ่าย นับวันยิ่งจมนับวันยิ่งขาดทุนสะสมแล้วใครหน้าไหนแม้จะได้ชื่อว่า“ขาใหญ่สายป่านยาว”ก็ยากจะต้านพลางประคองธุรกิจให้ไปต่อได้
ทั้งหมดคือ 4 ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบธุรกิจรถทัวร์ขาใหญ่แห่งวงการอย่างเจ๊เกียวจนไม่สามารถไปต่อได้บนยุทธจักรที่เคยสร้างชื่อให้กับเขา!
ว่ากันว่าภายใต้อาณาจักรเชิดชัยทัวร์มีฟลีทรถทัวรอยู่กว่า 200 คัน ทว่า ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นเหลือรถวิ่งอยู่แค่ 20-30%เท่านั้น อีกประมาณ 70% ต้องหยุดวิ่งจอดรถทิ้งไว้ที่อู่มานานกว่า 2 ปีแล้วเพราะประสบ “ปัญหาขาดทุน”อย่างหนัก
หลอมรวมเป็นผลกระทบที่เจ้าแม่รถทัวร์เมืองไทยไม่อาจไปต่อได้จึงตัดสินใจยอมเลิกประกอบธุรกิจรถโดยสาร บขส.โดยจะขายบริษัทเชิดชัยทัวร์ออกไปปิดตำนาน 65ปีที่เคยโลดแล่นบนเส้นทางนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับธุรกิจอื่นๆ ที่แม้แกจะบอกว่ารู้สึกเสียดายแต่ในเรื่องธุรกิจหากทำต่อแล้วมีแต่ขาดทุนก็ไม่รู้ว่าจะทำต่อไปทำไม และตอนนี้ลูกๆทั้ง 4 คนก็มีกิจการเป็นของตัวเองหมดแล้ว ทุกคนก็ไม่มีใครอยากสานต่อธุรกิจเดินรถบขส.เพราะมีแต่ปัญหาและกำไรน้อย
“ตอนนี้ตนเองก็อายุ 85 ปีแล้วไม่อยากเหนื่อยกับการต้องทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในบริษัทที่ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างนี้อีกต่อไป จึงอยากวางมือกับธุรกิจนี้และทุ่มเทเวลาไปให้กับธุรกิจอื่นๆ ที่ยังอยู่ เช่น ธุรกิจต่อตัวถังรถโดยสาร,ธุรกิจขายรถยนต์ และธุรกิจให้เช่าที่ดิน เป็นต้น”นี่คือความในใจท่อนทิ้งท้ายที่เจ้าแม่รถทัวร์เมืองไทยได้หล่นเอาไว้
ว่าแต่ว่าสภาพวงล้อธุรกิจรถทัวร์โดยสารในยามยากส์นี้ แล้วใคร?จะกล้าเสี่ยงซื้อกิจการระดับตำนานนี้จากเจ๊แกไปโม่แป้งต่อ! และที่สำคัญระดับบิ๊กเนมในป่าดงดิบ บขส.อย่างหญิงแกร่ง“เจ๊เกียว” ที่มีทั้งทุน-บารมียังไม่สามารถต้านผลกระทบได้ และดูจากทิศทางลมแล้วยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยว่าจะสามารถพลิกธุรกิจนี้ให้ฟื้นกลับมีกำไรอย่างที่เคยเป็นมาได้
เมื่อชีพจรธุรกิจรถทัวร์ยังหายใจรวยรินอยู่เช่นนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบได้อะไรกับบทเรียนนี้ แล้วรายอื่นๆจะอยู่รอดไปได้อย่างไร?ที่สำคัญรายต่อไปจะเป็นใคร?ที่นับถอยหลังโบกมือวงการนี้ไป!
:ลมใต้ปีก