นางสาวจีรวรรณ หงสกุล ผู้อำนวยการกองกำกับกิจการขนส่งทางราง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินคุณภาพของสถานีรถไฟในเส้นทางสายใต้ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ ชุมทางทุ่งสง สถานีสุราษฎร์ธานี สถานีหลังสวน และสถานีชุมพร เพื่อพัฒนาคุณภาพการขนส่งทางรางในการให้บริการสู่ความเป็นเลิศ ให้มีการพัฒนาและส่งเสริมระบบการขนส่งทางรางในประเทศ โดยมุ่งเน้นคุณภาพตามมาตรฐานสากล 8 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2. ด้านการเชื่อมต่อ 3. ด้านข้อมูลเดินทางและประชาสัมพันธ์ 4. ด้านความปลอดภัย 5. ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก 6. ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design 7. ด้านการให้บริการ และ 8. ด้านสุนทรียภาพ
ทั้งจากการลงพื้นที่พบว่า สถานีชุมทางทุ่งสง เป็นสถานีชุมทางที่แยกเส้นทางรถไฟสายกันตัง ออกจากเส้นทางรถไฟสายใต้ เป็นสถานีสำคัญของภาคใต้ตอนกลาง เป็นจุดผลัดเปลี่ยนเวรพนักงานขับรถ อีกทั้งมีหน่วยงานราชการบริเวณใกล้เคียงคือ สถานีตำรวจรถไฟทุ่งสงและที่ว่าการอำเภอทุ่งสง มีจุดเด่นด้านการเชื่อมต่อกับสถานีขนส่งทุ่งสงในรัศมี 500 เมตร แต่ยังขาดระบบขนส่งสาธารณะรอง สามารถพัฒนาให้มีรถโดยสารประจำทางรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารรถไฟ ตัวสถานีมีการออกแบบตามหลัก universal design โดยจัดให้มีพื้นที่จอดรถยนต์ ทางลาด ห้องน้ำ และเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งมีการให้ประชาชนสามารถใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อค้าขายภายในสถานี บริเวณทางเดินเท้าข้างสถานีมีการจัดให้มีพื้นที่ลานนิทรรศการเพื่อเสริมสร้างการมีอัตลักษณ์ของสถานี
สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นสถานีสำคัญด้านการท่องเที่ยวเพราะสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดภูเก็ต เกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะสมุย พบว่ามีจุดเด่นด้านการเชื่อมต่อ โดยสถานีมีการเชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะหลายรูปแบบ คือ รถโดยสารประจำทาง รถสองแถวเส้นทาง รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถยนต์รับจ้าง และรถทัศนาจร ตัวสถานีมีการจัดให้มีพื้นที่จอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพียงพอรอบบริเวณสถานี บริเวณทางเข้าสถานีมีการจัดให้มีทางลาดสำหรับผู้โดยสารที่มีกระเป๋าสัมภาระและผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์ ด้านข้างสถานีมีลาดจอดรถสำหรับผู้ที่ต้องการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ด้านในสถานีมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้ผู้ที่สนใจขายสินค้าและเครื่องดื่ม รวมทั้งมีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกคน อาทิ เก้าอี้พักคอยสำหรับผู้โดยสารบริเวณชานชาลา ห้องน้ำ เครื่องกระตุกหัวใจ พื้นที่สูบบุหรี่ จุดฝากสัมภาระ และสะพานข้ามระหว่างชานชาลา เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
สถานีหลังสวน เป็นสถานีรถไฟที่อยู่ใกล้ชุมชนและยกขึ้นสูงกว่าระดับพื้นถนน รถไฟสามารถเดินรถได้ในสถานการณ์น้ำท่วม บริเวณด้านหน้าสถานีมีการจัดให้มีพื้นที่จอดรถยนต์และจักรยานที่กว้างซึ่งรองรับปริมาณความต้องการของผู้เดินทางได้อย่างเพียงพอ และมีท่ารถตู้สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปในตัวเมืองชุมพร รวมทั้งการจัดให้มีพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับร้านเครื่องดื่มและสวนสุขภาพเพื่อขุมชน บริเวณด้านข้างสถานีกำลังดำเนินการก่อสร้างบ้านพักสำหรับพนักงาน ในด้านการพัฒนาเนื่องจากบริเวณด้านหลังสถานีมีทางเข้าที่มีพื้นที่กว้างแต่บันไดมีความชันค่อนข้างสูง ทางสถานีสามารถจัดให้มีพื้นที่จุดรับส่งหรือจุดจอดรับและทางขึ้นทางลาดที่เหมาะสมเพื่อรองรับการใช้บริการของผู้โดยสาร
สถานีชุมพร จุดเด่นเป็นสถานีรถไฟที่อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งพื้นที่ใกล้ข้างเคียงประกอบไปด้วยพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตลาด โรงแรม โรงเรียน และสถานที่ราชการ ตัวสถานีมีการออกแบบตามหลัก universal design โดยจัดให้มีพื้นที่จอดรถยนต์และทางลาดสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างทางคู่ อาคารสถานี สะพานลอยและลิฟท์ข้ามชานชาลา เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยของผู้โดยสาร ด้านการเชื่อมต่อบริเวณหน้าสถานีมีจักรยานยนต์รับจ้างและท่ารถตู้หน้าตลาดสดเทศบาลเมืองชุมพร
หลังจากการลงพื้นที่ตรวจประเมินคุณภาพและความพร้อมในการให้บริการ กรมการขนส่งทางรางจะจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสถานีรถไฟทั้ง 4 แห่งให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้ผู้ใช้บริการได้รับการบริการที่มีคุณภาพ สะดวก ปลอดภัย และเท่าเทียม
โดยในปี 2566 นี้ ขร. ได้ลงพื้นที่ตรวจคุณภาพของสถานีขนส่งทางราง ประเภทรถไฟฟ้าในเขตเมืองและสถานีรถไฟไปแล้วรวม 14 สถานี โดยจะทยอยลงพื้นที่ตรวจประเมินคุณภาพสถานีในเดือนมิถุนายนนี้ ได้แก่ สถานีบางเขน (สายสีแดง) สถานีห้าแยกลาดพร้าว (สายสีเขียว) สถานีสนามไชย (สายสีน้ำเงิน) สถานีบางหว้า (สายสีน้ำเงินและสายสีเขียว) สถานีมักกะสัน (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) และสถานีสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์)
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานีรถไฟและสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะสามารถยกระดับมาตรฐานการบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากลต่อไป