สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดแผนบูรณาการ อีอีซี เพื่อบูรณาการการพัฒนาเชิงพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นระบบ โดยโครงการในงานแผนบูรณาการเป็นแผนภาพรวมเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในกรอบระยะ 5 ปี ตามเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนปฏิรูปประเทศ ที่เป็นต้นแบบการสร้างการมีส่วนร่วม รัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมลงทุน ร่วมพัฒนา”
โดยแผนงานบูรณาในปี 2566 เน้น “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างบูรณาการและยั่งยืน” โดยกำหนดเป้าหมายการลงทุน 500,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นไปตามแผนการลงทุนอีอีซีในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ของ สกพอ. ที่ปรับเป้าหมายการลงทุน เป็น 2.2 ล้านล้านบาท โดยในปี 2566 ได้กำหนดแนวทางสำคัญภายใต้แผนงานบูรณาการ 4 แนวทางตามภารกิจที่สำคัญที่เชื่อมโยงส่งต่อการดำเนินงานร่วมกันในลักษณะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่
- ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับพื้นที่เศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อ ควบคู่การวางโครงข่ายดิจิทัลเพื่อดึงทุนเอกชน รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
- พัฒนาและยกระดับบุคลากร การศึกษา วิจัย และนวัตกรรม หลอมรวมการศึกษา พัฒนาทักษะบุคลากร สู่การปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม รองรับการวิจัยชั้นนำ พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์
- พัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างระบบนิเวศเมืองด้วย
การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เกษตรอัจฉริยะ สาธารณสุข เมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อม - ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว
การขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการ อีอีซี ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ให้เป็นทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของ GDP ทั้งในระดับพื้นที่และในภาพรวมของประเทศ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามแนวคิด “การตลาดนำการผลิต” การท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่มีการกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่าง ๆ ทั่วถึง การพัฒนาการศึกษาด้วยแนวคิด Demand Driven ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและระบบสาธารณสุขที่พร้อมให้บริการอย่างเต็มศักยภาพ ช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง